xs
xsm
sm
md
lg

เคลียร์เกณฑ์ “ตรวจสุขภาพฟรีผู้ประกันตน” ย้ำต้องยังไม่มีอาการ แนะ รพ.ช่วยสะท้อนต้นทุนค่าบริการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สปส. ประชุม รพ. คู่สัญญากว่า 240 แห่ง เคลียร์ข้อสงสัย “สิทธิตรวจสุขภาพฟรี” ย้ำ ตรวจเมื่อมีอาการป่วย - ตรวจเพิ่มเติมวินิจฉัยโรค ไม่เข้าเกณฑ์เบิกค่าบริการตรวจสุขภาพฟรี แนะหากต้นทุนบริการของ รพ. สูงกว่าอัตราที่กำหนด ให้รายงานข้อมูล หวังทราบต้นทุนที่แท้จริง ชี้ ปรับอัตราใหม่ได้

วันนี้ (1 ก.พ.) ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้จัดการประชุมชี้แจงสิทธิประโยชน์ และการจัดบริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาลในโครงการประกันสังคม รุ่นที่ 1 เพื่อทำความเข้าใจและเตรียมความพร้อมแก่โรงพยาบาลคู่สัญญาในการให้บริการสิทธิประโยชน์ตรวจสุขภาพฟรี ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ผู้ประกันตน โดยมีสถานพยาบาลเข้าร่วมประชุมกว่า 240 แห่ง

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า ขณะนี้ยอมรับว่า การให้บริการตรวจสุขภาพฟรี ยังมีปัญหา เนื่องจากโรงพยาบาลคู่สัญญาหลายแห่งยังไม่ทราบเรื่องการเพิ่มสิทธิประโยชน์ดังกล่าว ทำให้ผู้ประกันตนที่เดินทางไปรับบริการประสบปัญหา อย่างไรก็ตาม สปส. ยืนยันว่า ได้ทำหนังสือแจ้งการเพิ่มสิทธิประโยชน์ดังกล่าวไปยังโรงพยาบาลคู่สัญญาทุกแห่งแล้ว นอกจากนี้ ยังพบว่า โรงพยาบาลคู่สัญญาหลายแห่งยังมีความไม่เข้าใจถึงรายละเอียดในการเริ่มต้นจัดบริการดังกล่าว จึงได้จัดให้มีการประชุมดังกล่าว เพื่อสร้างความเข้าใจและเตรียมความพร้อมแก่โรงพยาบาลคู่สัญญา

นพ.สนธยา พรึงลำภู ที่ปรึกษาการแพทย์ สปส. กล่าวว่า ที่ผ่านมา ผู้ประกันตนใช้สิทธิรับบริการทางการแพทย์ก็ต่อเมื่อเจ็บป่วยเท่านั้น ดังนั้น การเพิ่มสิทธิประโยชน์ส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค โดยจัดให้มีการตรวจสุขภาพฟรีที่โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ จึงช่วยให้ผู้ประกันตนสามารถรับบริการทางการแพทย์เมื่อยังไม่เจ็บป่วยได้ สำหรับการประชุมในครั้งนี้ได้ชี้แจงให้โรงพยาบาลคู่สัญญาของประกันสังคมเข้าใจถึงลักษณะของการตรวจสุขภาพที่เข้าเกณฑ์ตามสิทธิประโยชน์ดังกล่าว คือ ต้องเป็นการตรวจคัดกรองในผู้ประกันตนที่ยังไม่มีอาการป่วยมาก่อน จึงถือว่าเข้าเกณฑ์การเบิกจ่ายสิทธิประโยชน์ตรวจสุขภาพ แต่หากเป็นการตรวจสุขภาพในโรคที่เป็นอยู่แล้ว เช่น เป็นเบาหวานแล้วขอตรวจน้ำตาลในเลือด เป็นต้น หรือแพทย์สั่งตรวจสุขภาพเพิ่มเติม เพื่อประกอบการวินิจฉัยโรค หาสาเหตุของโรค ความรุนแรงของโรค ถือเป็นการตรวจสุขภาพตามสิทธิการรักษาพยาบาลอยู่แล้ว ตรงนี้ก็จะเบิกจ่ายจากงบเหมาจ่ายรายหัวที่ สปส. ส่งให้กับโรงพยาบาลคู่สัญญาอยู่แล้ว ต้องแยกให้ชัดเจน

สำหรับข้อกังวลของโรงพยาบาลคือ หลักเกณฑ์การตรวจสุขภาพและต้นทุนค่าบริการ ซึ่งอาจเกินจากอัตราค่าใช้จ่ายที่ สปส.กำหนดจะทำอย่างไร ก่อนอื่นขอชี้แจงว่า รายการตรวจสุขภาพและค่าบริการนั้น สปส. ยึดตามหลักเกณฑ์ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และมีการปรับให้เหมาะสม อย่างเรื่องเอกซเรย์ เกณฑ์ของกรมการแพทย์ไม่ได้พูดถึง แต่มีในประกาศแนบท้ายของ สปส. เป็นต้น ซึ่ง สปส. กำหนดเพราะบางอาชีพจำเป็นต้องได้รับการตรวจสุขภาพด้วยการเอกซเรย์จึงกำหนดเอาไว้ด้วย อย่างไรก็ตามขอให้โรงพยาบาลยึดตามบัญชีแนบท้ายของ สปส. ตรวจคัดกรองตามความเสี่ยงจากการทำงาน และกลุ่มอายุ และพิจารณาตามความเหมาะสม ส่วนเรื่องต้นทุนการบริการ สปส. เองก็อยากทราบต้นทุนที่แท้จริงเช่นกันว่าเพียงพอหรือไม่ ถ้าหากโรงพยาบาลพบว่าไม่เพียงพอ ก็ต้องสะท้อนข้อมูลเข้ามายัง สปส. ซึ่งจะรายงานเข้าไปยังที่ประชุมคณะกรรมการการแพทย์ต่อไป ซึ่งหากคณะกรรมการเห็นว่า มีความจำเป็น ก็สามารถออกประกาศเพื่อปรับอัตราค่าบริการใหม่ได้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระของโรงพยาบาล” นพ.สนธยา กล่าว

นพ.อรรถสิทธิ ศรีสุบัติ ผอ.สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ สธ. กล่าวว่า การมีโปรแกรมตรวจสุขภาพให้ผู้ประกันตน จะช่วยให้รู้ความเสี่ยงและป้องกันตัวเองแต่เนิ่นๆ ช่วยยืดระยะเวลาการป่วยด้วยโรคต่างๆ ได้ เพราะหากไม่รู้ตัวเองก็จะไม่ระวัง และอาจจะทำให้เป็นโรคเร็ว ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษามากกว่าการเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพ แต่ข้อควรระวัง คือ การตรวจสุขภาพมีทั้งที่จำเป็น และไม่จำเป็น เพราะบางอย่างเมื่อตรวจไปแล้วโอกาสเกิดผลบวกลวงสูง ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพเพิ่มเติม ซึ่งมีหลายกรณีพบว่าเมื่อตรวจไปแล้วกลับไม่ได้เป็นโรคตามที่ผลตรวจสุขภาพบอก ก็ทำให้เสียเวลา ค่าใช้จ่าย และสุขภาพจิต ดังนั้น สถาบันวิจัยฯ จึงทำการศึกษาแนวทางการตรวจสุขภาพที่เหมาะสม โดยเน้นเรื่องของการซักประวัติ ประเมินความเสี่ยง ตรวจร่างกาย และส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการตามความจำเป็น เมื่อพบความเสี่ยงก็ให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพ เพื่อไม่ให้เกิดโรค แต่ถ้าพบโรคก็ตรวจยืนยันและรักษาต่อไป

ด้าน นพ.วุฒิชัย บุญไชยะ แพทย์ประจำโรงพยาบาลบุรีรัมย์ ฝ่ายสิทธิบัตร กล่าวว่า รพ.บุรีรัมย์ มีความพร้อมในการให้บริการตรวจสุขภาพผู้ประกันตน เพราะมีประสบการณ์ในการจัดบริการให้แก่สิทธิบัตรทองและข้าราชการมาก่อน โดยมีการแยกหน่วยบริการตรวจสุขภาพทุกสิทธิการรักษาออกมาโดยเฉพาะ ทำให้ผู้มารับบริการไม่ต้องไปรอคิวปะปนกับผู้ป่วยที่มาพบแพทย์เพื่อรักษาทั่วไป ซึ่งแต่ละวันผู้มารับบริการตรวจสุขภาพก็มีไม่มาก ทำให้ไม่ต้องรอคิวนาน แต่หากตรวจสุขภาพแล้วพบว่ามีความจำเป็นต้องตรวจเฉพาะทางเพิ่มเติมก็อาจต้องไปเข้าระบบคิวตามปกติ อย่างไรก็ตาม ข้อกังวลของโรงพยาบาล คือ ผู้มารับบริการจะขอตรวจสุขภาพไปทุกอย่างมากกว่า ซึ่งบางอย่างถือว่าไม่จำเป็นต้องตรวจ เพราะการตรวจมากๆ อาจทำให้เกิดผลบวกลวงได้ ทั้งนี้ รพ.บุรีรัมย์ ได้ให้บริการตรวจสุขภาพผู้ประกันตนตามสิทธิมาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา พบว่า ยังไม่มีปัญหาเรื่องการให้บริการแต่อย่างใด ส่วนการตรวจสุขภาพโดยรวมมักเข้ามารับบริการตรวจเบาหวาน นิ่ว และ เกาต์ เป็นส่วนใหญ่
กำลังโหลดความคิดเห็น