รพ.จุฬาฯ เปิดศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ พัฒนาการตรวจเชื้อก่อโรคจากสัตว์สู่คน หวังช่วยป้องกันและคุมการระบาดได้
วันนี้ (31 ม.ค.) ที่อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีพิธีเปิดศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ฯ กล่าวว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ฯ ตั้งขึ้นในเดือน มกราคม 2560 เป็นการขยายต่อยอดจากศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมองที่ทำงานมาตลอด 15 ปี ทั้งนี้ การตรวจและระบุเชื้อก่อโรคสำคัญๆ ในป้จจุบันสามารถตรวจระบุได้ไม่ถึง 50% จึงต้องมีการพัฒนาการตรวจต่อไป เพราะเชื้อก่อโรคในมนุษย์กว่า 70% เกิดจากสัตว์ การตรวจเพื่อให้รู้ว่าสัตว์ตัวไหนก่อโรคในคนนั้น จะช่วยให้สามารถนำมาเทียบเคียงความชุกของพื้นที่ที่จะเกิดโรคได้ หรือการเกิดโรคจะเกิดขึ้นในฤดูไหน ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เราควบคุมการระบาดของโรคได้ ถือเป็นการทำงานในเชิงรุก เพื่อสร้างความรู้และนวัตกรรมในการเตรียมพร้อมรับมือ ป้องกันโรคได้ทันท่วงที ก่อนหน้าที่จะมีความหายนะและกระทบความมั่นคงของประเทศ
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับการพัฒนาด้านนวัตกรรม ทางศูนย์ฯ ได้ร่วมพัฒนายาทำหมันสุนัขเพศผู้ ใช้เวลา 2 นาที ไม่ต้องกักขัง และหมันถาวร ภายในสองลัปดาห์ และประสบความสำเร็จมากกว่า 3,000 ตัว และยังศึกษาการใช้ยาต้านไวรัส RNA และการสร้างไวรัสปรับแต่งพันธุกรรมโดยทดลองในสัตว์ เช่น หนู และ สุนัข ปรากฏรอดชีวิตจากเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าได้ อีกทั้งสามารถระบุกลไกการเคลื่อนตัวของไวรัสในสมองจากการศึกษาด้วยภาพรังสีวินิจฉัยจากคอมพิวเตอร์สมองชนิดพิเศษ โดยร่วมกับทีมจากโรงพยาบาลรามาธิบดี และยังพบกลไกการเกิดโรคสมองอักเสบจากเชื้อเริม และศึกษาการใช้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างเดียว โดยไม่ต้องใช้สารสกัดน้ำเหลืองในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในหนูแฮมสเตอร์ได้
“จากผลงานที่ทำมาเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้ศูนย์ฯ ได้รับทุนจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา (DTRA) จำนวน 100 ล้านบาท อีกทั้งจากองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) จำนวน 42 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อทำให้ศูนย์สามารถทำงานเพื่อประชาชน โดยประสานงานกับทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัย รักษา ป้องกันและควบคุมโรคสำหรับคนไทยต่อไป” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว