xs
xsm
sm
md
lg

ถอดความสำเร็จ “ผู้รับรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล” ชี้ลดปัจจัยเสี่ยง “หลอดเลือดสมอง” ป้องกันความจำเสื่อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เปิดผลงาน 2 บุคคลผู้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล “เซอร์เกรกอรี” ต้นแบบพัฒนายาแอนติบอดี สู่การรักษาโรครักษายากและมะเร็ง “ศ.นพ.วลาดิเมียร์” สร้างมาตรฐานดูแลผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง ลดภาวะสมองเสื่อม

วันนี้ (30 ม.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่โรงพยาบาลศิริราช ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2559 ได้แก่ เซอร์ เกรกอรี พอล วินเทอร์ คณบดีวิทยาลัยทรินิตี มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร ผู้รับรางวัลสาขาการแพทย์ และ ศ.นพ.วลาดิเมียร์ ฮาชินสกี ศาสตราจารย์พิศิษฐ์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ออนตาริโอ ประเทศแคนาดา ผู้รับรางวัลสาขาการสาธารณสุข เดินทางมาเยือนคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ในฐานะหน่วยงานที่ริเริ่มรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล และแสดงปาฐกถาเกี่ยวกับผลงานที่ได้รับรางวัล โดยมี ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ให้การต้อนรับ

ทั้งนี้ เมื่อเดินทางมาถึงได้ถวายสักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระบรมฉายาลักษณ์และภาพพระบรมโกศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากนั้นเยี่ยมชมห้องสมเด็จพระบรมราชชนก
เซอร์ เกรกอรี พอล วินเทอร์
เซอร์ เกรกอรี พอล วินเทอร์ กล่าวว่า ธรรมชาติให้ “แอนติบอดี” เป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่แรก เพื่อใช้ต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรีย ไวรัสต่างๆ เพื่อปกป้องร่างกาย อดีตแอนติบอดีที่ใช้มาจากเซลล์ของหนูเป็นหลัก เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ถือเป็นสิ่งแปลกปลอม และเกิดปฏิกิริยาต่อต้านทำให้ไม่สามารถใช้รักษาโรคได้ จึงพัฒนาแอนติบอดีจากสัตว์คือหนูทดลองให้มีความใกล้เคียงมนุษย์มากที่สุด โดยอาศัยการเปลี่ยนถ่ายทดแทนลำดับพันธุกรรมในตำแหน่งที่สำคัญอย่างเป็นระบบ ทำให้โมเลกุลแอนติบอดีใหม่ยังคงสามารถจับกับเป้าหมายที่ได้จำเพาะ แต่มีโครงสร้างโมเลกุลเหมือนแอนติบอดีมนุษย์ ทำให้รักษาโรคในคนได้ ซึ่งกระบวนการพัฒนาดังกล่าวใช้เวลาประมาณ 10 ปี เริ่มคิดวิจัยตั้งแต่ปี 1992 จึงได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาในปี 2002 ซึ่งเทคโนโลยีนี้ทำให้เกิดความก้าวหน้าทางการแพทย์อย่างมาก เป็นพื้นฐานสำคัญนำไปสู่การพัฒนาแอนติบอดีจำนวนมาก เช่น เทคนิคการใช้แบคทีเรียในการผลิตแอนติบอดี การใช้แอนติบอดีของมนุษย์ใส่ในหนูทดลอง เป็นต้น แต่ที่ต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาแอนติบอดีใหม่ๆ คือ เป้าหมายในการสร้างแอนติบอดีไปจับเพื่อรักษานั้นจะใช้ในการรักษาโรคอะไร รวมถึงการใช้ยาอื่นในการร่วมกับแอนติบอดีในการรักษา และต้องมีคนไข้มากพอในการวิจัยแอนติบอดีนั้นๆ ว่าเป็นประโยชน์ในการรักษาโรคนั้นหรือไม่

“ปัจจุบันมีการพัฒนายาแอนติบอดีจำนวนมาก เป็นยากลุ่มใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษาโรคที่เดิมรักษาได้ยากและมีผลข้างเคียงสูง เช่น โรคภูมิคุ้มกัน โรครูมาตอยด์ และโรคมะเร็ง โดยมียากลุ่มแอนติบอดีได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 50 ชนิด และมียาใหม่ขึ้นทะเบียนเพิ่มอีกปีละ 3 - 5 ชนิด เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของผู้ป่วยรับร้อยล้านคนทั่วโลก อย่างการใช้แอนติบอดีรักษามะเร็ง ก็มีทั้งยาแอนติบอดีแบบมุ่งเป้า ยาลดการสร้างหลอดเลือดไปสู่มะเร็ง ทำให้เซลล์มะเร็งตายในที่สุด หรือการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัด โดยยาแอนติบอดีไปช่วยเสริมประสิทธิภาพของทีเซลล์ในการออกฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้น เป็นต้น” เซอร์ เกรกอรี กล่าว
ศ.นพ.วลาดิเมียร์ ฮาชินสกี
ศ.นพ.วลาดิเมียร์ ฮาชินสกี กล่าวว่า สมัยตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ จะมีการพูดว่าคนเป็นโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน (สโตรก) รักษาไม่ได้ ซึ่งตนคิดว่าไม่ใช่แนวคิดที่ถูกต้อง จึงคิดว่าควรมีหน่วยพิเศษในการดูแลโรคดังกล่าว จึงมีการตั้งหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันขึ้นเป็นครั้งแรกในแคนาดา โดยใช้คำว่า “เบรนแอทแทค (Brain Attack)” มาใช้ เพื่อสื่อถึงความฉุกเฉินของโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน เป็นการเตือนให้ผู้ป่วยรีบไปโรงพยาบาลทันที แทนที่จะสังเกตอาการอยู่ที่บ้าน และมีการฟื้นฟูที่โรงพยาบาล กลายเป็นมาตรฐานในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั่วโลก ทั้งนี้ โรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันเมื่อเกิดขึ้นพบว่าทำให้หัวใจเต้นผิดปกติและเสียชีวิตทันทีนั้น ซึ่งจากการศึกษาพบว่ามีความสัมพันธ์กับสมองส่วนอินซูลาร์ ซึ่งมีผลต่อการเต้นผิดปกติของหัวใจ โดยสมองอินซูลาร์ข้างขวาทำให้เกิดความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น แต่ถ้าเป็นข้างซ้ายจะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจลดลง เมื่อเกิดความไม่สมดุลของสมองทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะและเสียชีวิตได้ เป็นการอธิบายถึงการเสียชีวิตแบบเฉียบพลันของโรคดังกล่าว

“สำหรับภาวะสมองเสื่อมนั้น มี 2 ประเภท คือ สมองเสื่อมตามสภาพ หรืออัลไซเมอร์ และสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน เช่น ตีบหรือแตก ซึ่งตามปกติคนอายุ 60 - 70 ปี จะเกิดภาวะสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ได้ แต่ถ้ามีปัญหาหลอดเลือดสมองร่วมด้วยจะทำให้สมองเสื่อมมากขึ้นอีก 2 เท่า อย่างไรก็ตาม จากการสร้างคลินิกป้องกันสมองเสื่อม ดูแลชาวออนตาริโอ ประเทศแคนาดา จำนวน 14 ล้านคน ในการลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ทั้งเรื่องของอาหาร การออกกำลังกาย โรคความดันโลหิตสูง พบว่า 12 ปีที่ดำเนินการสามารถป้องกันโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันได้ และลดการเกิดภาวะสมองเสื่อมลงได้ ซึ่งตนจะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมรัฐมนตรีโลกเพื่อให้เห็นความสำคัญการป้องกันโรคสมองเสื่อม” ศ.นพ.วลาดิเมียร์ กล่าว

ทั้งนี้ ผู้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2559 จะเข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 31 มกราคม 2560 เวลา 17.30 น. ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง
กำลังโหลดความคิดเห็น