อย. คาด ทำอัตราค่าใช้จ่ายขึ้นทะเบียน “ผลิตภัณฑ์สุขภาพ” แล้วเสร็จใน มี.ค. ก่อนเสนอ ครม. ออกประกาศ ใช้จ้างผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบความปลอดภัย ช่วยขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพเร็วขึ้น ชี้ช่วยตรวจสอบ “เครื่องสำอาง” ก่อนอนุญาตจดแจ้ง เพิ่มความปลอดภัยมากขึ้น จากเดิมยื่นออนไลน์ปุ๊บได้ใบจดแจ้งทันที
นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงความคืบหน้าการทำอัตราค่าใช้จ่ายที่จะเรียกเก็บจากผู้ประกอบการที่ขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อนำไปใช้ในการจ้างผู้เชี่ยวชาญอ่านค่าคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ภายหลังหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาการขึ้นทะเบียนล่าช้า ว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาในเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะเรียกเก็บจากผู้ประกอบการ ของแต่ละคณะกรรมการตามกฎหมายที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น คณะกรรมการยา คณะกรรมการอาหาร เป็นต้น กำลังดำเนินการจัดทำอัตราค่าใช้จ่ายอยู่ คาดว่า จะแล้วเสร็จภาย 3 เดือน หรือช่วง มี.ค. นี้ จากนั้นจึงจะทำประชาพิจารณ์ ก่อนเสนอต่อคณะกรรมการตามกฎหมายที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ แล้วจึงเสนอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาออกเป็นประกาศ
“อัตราค่าใช้จ่ายจะมีความละเอียดมาก ซึ่งจะระบุออกมาเป็นค่าใช้จ่ายแต่ละรายการของแต่ละผลิตภัณฑ์สุขภาพเลย ซึ่งเมื่อมีอัตราค่าใช้จ่ายเรียกเก็บที่แน่ชัด ก็จะช่วยให้การดำเนินการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพมีความรวดเร็วขึ้น ถูกใจผู้มาขอยื่นขึ้นทะเบียน ก็จะเข้าสู่ยุคใหม่ของ อย. ที่เรียกว่า อย. 4.0 ในการที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งหลาย ซึ่งเป็นที่คาดหวังของรัฐบาลว่าจะมีผลิตภัณฑ์สุขภาพออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ และนำรายได้เข้าสู่ประเทศ” เลขาธิการ อย. กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีความรวดเร็วในการยื่นจดแจ้ง “เครื่องสำอาง” แต่ไม่มีการตรวจสอบความปลอดภัย โดยอาศัยการสุ่มตรวจหลังจำหน่าย นพ.วันชัย กล่าวว่า การจัดทำอัตราค่าใช้จ่ายเรียกเก็บดังกล่าวครอบคลุมถึงกลุ่มเครื่องสำอางด้วย ดังนั้น นอกจากจะเป็นมาตรการที่ช่วยให้การขึ้นทะเบียนยาต่างๆ ที่มีความล่าช้าจากการตรวจสอบค่าความปลอดภัยให้มีความรวดเร็วขึ้น ก็จะช่วยในเรื่องของการตรวจสอบความปลอดภัยของเครื่องสำอางด้วย คือ จากเดิมที่ผู้ประกอบการสามารถยื่นจดแจ้งเครื่องสำอางผ่านระบบออนไลน์ หากทุกอย่างถูกต้องจะสามารถรับใบอนุญาตจดแจ้งได้ทันที ซึ่งกระบวนการยื่นขอจดแจ้งยังเหมือนเดิม แต่จะเกิดขั้นตอนการตรวจสอบความปลอดภัยของสารต่างๆ ในเครื่องสำอางก่อนที่จะออกใบอนุญาตจดแจ้งเพื่อผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายด้วย ก็จะเป็นรักษาสมดุลไม่ให้ออกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางได้ง่ายเกินไปจนเกิดปัญหาเรื่องความปลอดภัย ขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนล่าช้าก็จะกระตุ้นให้เกิดการขึ้นทะเบียนที่รวดเร็วขึ้น