xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์จุฬาฯ ชี้ป่วย “ไข้หวัดใหญ่” เสี่ยงเกิด “สมองอักเสบ” ได้ เปิดข้อบ่งชี้ควรตรวจวินิจฉัยเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แพทย์จุฬาฯ ชี้ ป่วย “ไข้หวัดใหญ่” มีความเสี่ยงเกิดภาวะ “สมองอักเสบ” ได้ หลังพบผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว เปิดข้อบ่งชี้อาการทางสมองจากไข้หวัดใหญ่ ควรตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์โรคติดเชื้อ โรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังการป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ พบว่า นอกจากอาการไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล อ่อนเพลีย หรือหากอาการรุนแรง จะมีปอดอักเสบ ปอดบวม ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตแล้ว ยังมีอาการ “ภาวะสมองอักเสบ” ด้วย โดยปี 2557 พบเสียชีวิตจากภาวะสมองอักเสบจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 จำนวน 1 ราย และเมื่อวันที่ 26 ม.ค. ที่ผ่านมา มีเด็กเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์บี และมีภาวะสมองอักเสบอีก 1 ราย ส่วนเด็กอีกคนที่เป็นพี่น้องกันยังมีอาการรุนแรง

“ที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลไม่ได้ต้องการสร้างความแตกตื่นแก่ประชาชน เนื่องจากประชาชนที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ จะไม่มีทางทราบได้ว่ามีกลุ่มอาการของไข้สมองอักเสบด้วยหรือไม่ แต่ที่ออกมาเตือน เนื่องจากต้องการให้แพทย์มีการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม และรายงานผลไปยังสำนักระบาดวิทยา หากพบความรุนแรงของโรคไข้หวัดใหญ่ที่นอกเหนือจากทั่วไป อย่างปัญหาทางสมอง เป็นต้น ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องนี้ได้มีการทำงานร่วมกันตลอด ทั้งจุฬาฯ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (คร.) หรือแม้แต่ในพื้นที่เอง โรงพยาบาลแต่ละแห่งก็มีการดำเนินการอยู่ เพียงแต่บางพื้นที่อาจมีอุปสรรคบ้าง ทั้งในเรื่องภาระงาน บุคลากร งบประมาณ แต่ก็ต้องย้ำว่าหากพบความผิดปกติของโรค ขอให้แจ้งทางสำนักระบาดวิทยา ซึ่งจะประสานลงไปช่วยเหลือ” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการสื่อสาร คือ ต้องดูที่ความรุนแรงของโรคไข้หวัดใหญ่ว่า สาเหตุของการเสียชีวิตมาจากตัวไข้หวัดใหญ่เอง หรือมาจากอาการแปลงออกมาทางสมอง ซึ่งปกติไข้สมองอักเสบมาจากหลายสาเหตุ ทั้งแบคทีเรีย ตัวหมัด ไร ริ้น หรือเกิดจากพยาธิ จากไวรัส ซึ่งรวมถึงไวรัสไข้หวัดใหญ่ด้วย ซึ่งอาการที่แตกต่างนั้น สังเกตได้จาก 1. มีอาการทางสมองหลังจากมีไข้ ซึ่งจะนับตั้งแต่มีไข้วันที่ 1 ถึงวันที่ 7 หรือบางกลุ่มอาจเลยไปถึง 14 วัน เรียกว่า อาจเกิดได้ทั้งอาการเฉียบพลัน หรือหลังจาก 7 วันไปแล้ว 2. ต้องเทียบภาพสแกนจากคอมพิวเตอร์ 3. มีปอดบวมร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งอาการทางสมองนั้น อาจทำให้ซึม ไม่รู้สึกตัว บางรายอาจกระวนกระวาย และมีอาการชัก หรืออ่อนแรงครึ่งซีก อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องกังวล ขณะนี้ระบบสาธารณสุขได้เชื่อมโยงกันในการเฝ้าระวังความรุนแรงของไข้หวัดใหญ่ที่เชื่อมโยงกับไข้สมองอักเสบอยู่ จึงไม่อยากให้ประชาชนกังวลเกินไป ขอเพียงดูแลสุขภาพให้ดี แข็งแรงก็พอ
กำลังโหลดความคิดเห็น