กรมอนามัย แนะวิธีเก็บอาหารเซ่นไหว้ “เป็ด - ไก่” ก่อนปรุงประกอบอาหาร ต้องล้างให้สะอาด ปรุงให้สุกอย่างทั่วถึงอีกครั้ง ก่อนนำมาบริโภค
นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ตามประเพณีของคนไทยเชื้อสายจีนจะนิยมนำของไหว้จากเป็ด ไก่ หมู ที่เหลือจากการไหว้มาปรุงประกอบอาหารบริโภคกันต่อภายในครอบครัว เพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งอาหารบางชนิดสามารถเก็บไว้กินได้นานโดยไม่บูดเสีย แต่อาหารจำพวกเป็ด ไก่ จะบูดเสียง่ายกว่าชนิดอื่น ก่อนนำมาปรุงประกอบอาหารนั้น ต้องดูความสะอาดเรียบร้อยบริเวณภายนอกให้ทั่ว โดยเฉพาะขนอ่อนหากมีหลงเหลือต้องถอนออกให้หมด เป็ด ไก่ ที่บริโภคไม่หมดในวันเดียว ควรเก็บไว้ในช่องแช่แข็ง หรือแบ่งแยกเก็บเป็นส่วนๆ เพื่อความสะดวกในการเลือกทำอาหารหรือบางบ้านอาจจะฉีกเนื้อเป็ด ไก่ แล้วเก็บเข้าช่องแช่แข็ง เพื่อทยอยนำออกมาทำอาหารได้ หากจะนำมาบริโภคควรนำมาปรุงประกอบด้วยความร้อนให้สุกทั่วถึงอีกครั้ง โดยในระหว่างต้มควรพลิกหรือสลับด้านด้วย ที่สำคัญ ไม่ควรนำเป็ด ไก่ดิบ ที่แช่แข็งไว้มาต้มทันที ควรต้มให้สุกทั่ว ระวังส่วนเนื้อที่ติดกระดูกไม่สุก หรือก่อนต้มควรนำเอาไก่ เป็ด แช่แข็งออกมา แช่ช่องธรรมดา ทิ้งไว้ให้คืนตัวเพื่อให้อุณหภูมิสูงขึ้นจะสามารถต้มให้สุกอย่างทั่วถึงได้
นพ.ดนัย กล่าวว่า ควรเลือกกินอาหาร หรือปรุงประกอบด้วยวิธีการต้ม นึ่ง อบ ย่าง แทนการทอด หรือ ผัด เลี่ยงเนื้อสัตว์ติดหนัง ติดมัน หมูสามชั้น ผัดผักน้ำมันเยิ้ม โดยสามารถเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการด้วยการเติมผัก หรือผลไม้ ได้ด้วยเมนูชูสุขภาพ เช่น สลัดไก่ฉีก ยำเป็ดหรือไก่สมุนไพร ต้มยำไก่ เป็นต้น ขนมเทียน ขนมเข่ง หลังจากเซ่นไหว้ควรนำมานึ่งก่อนบริโภค หากกินไม่หมดภายในวันเดียว ควรเก็บไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิไม่เกิน 5 องศาเซลเซียส จะสามารถเก็บไว้ได้นาน 3 - 5 วัน แต่หากจะกินต้องนำมาอุ่นให้เดือดด้วยความร้อน ไม่ควรนำอาหารที่เก็บในตู้เย็นออกมาอุ่นซ้ำไปซ้ำมาหลายๆ ครั้ง
“ทั้งนี้ ก่อนนำอาหารมาแช่ในตู้เย็นควรจัดแบ่งใส่ภาชนะในปริมาณที่พอเหมาะกับการกินในแต่ละครั้งก่อนเพื่อป้องกันการอุ่นอาหารซ้ำไปซ้ำมา ขนมทุกชนิดจะต้องเก็บไว้ในตู้เย็น และหากจะนำมากินต้องอุ่นให้ร้อนด้วยการนึ่ง ส่วนขนมเข่งที่ไม่ใส่เนื้อมะพร้าวสามารถนำไปตากแห้ง เพื่อเก็บไว้กินได้ แต่ต้องระวังการขึ้นรา หรือมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว บูดเสีย” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว