กสร. แจงร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ กำหนดลูกจ้างลาไปฝากครรภ์ - ตรวจสุขภาพครรภ์ได้ ยังได้รับค่าจ้าง แต่นับรวมอยู่ในวันลาคลอด 90 วัน ไม่ห่วงระยะเวลาลาคลอด เพื่อเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดลง
นายอภิญญา สุจริตตานันท์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงกรณีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ที่มีการเพิ่มค่าชดเชยการถูกเลิกจ้างสำหรับลูกจ่างที่อายุงานเกิน 20 ปี ได้รับชดเชย 400 วัน และการเพิ่มสิทธิไปตรวจสุขภาพครรภ์ โดยยังได้รับค่าจ้าง ว่า การเพิ่มค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้างในลูกจางที่มีอายุงานมากๆ โดยเพิ่มเป็นอายุงาน 20 ปีขึ้นไป ได้รับชดเชย 400 วัน จากเดิมกำหนดเพียงอายุงานเกิน 10 ปีขึ้นไป ได้รับชดเชย 300 วัน ถือเป็นเรื่องดีต่อลูกจ้างที่ได้รับเงินชดเชยเพิ่มขึ้น ส่วนการเพิ่มสิทธิลาในการตรวจครรภ์ก่อนคลอดนั้น เนื่องจากที่ผ่านมามีการตีความกฎหมายว่า การลาไปฝากครรภ์นั้นไม่เข้าเงื่อนไขวันลาคลอดจำนวน 90 วัน ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่...) พ.ศ. ... จึงมีการแก้ไขในประเด็นนี้ด้วย โดยระบุให้ชัดเจนในกฎหมายว่าให้นับรวมการลาไปฝากครรภ์ หรือตรวจสุขภาพครรภ์ด้วย โดยให้นับรวมอยู่ในจำนวน 90 วัน ซึ่งการลาไปฝากครรภ์ก็ยังได้รับค่าจ้างเหมือนเดิม คือ รับจากนายจ้างและประกันสังคม ที่รับผิดชอบคนละครึ่ง เหมือนการลาคลอดธรรมดา ทั้งแบบลูกจ้างรายวันและรายเดือนก็จะได้รับค่าจ้างตามปกติอย่างที่เคยได้รับ
เมื่อถามว่า การนับรวมการฝากครรภ์เป็นวันลาคลอด 90 วัน จะทำให้ลูกจ้างมีเวลาในการเลี้ยงลูกลดลง ทั้งที่หลายฝ่ายพยายามผลักดันให้มีการลาคลอดมากขึ้น เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นายอภิญญา กล่าวว่า ถือว่ารวมอยู่ใน 90 วัน แต่คิดว่าไม่น่ามีผลกระทบอะไร เพราะปกติแล้วบางคนก็ใช้สิทธิลาคลอดไม่ถึง 90 วัน ส่วนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็มีการผลักดันเรื่องมุมนมแม่ในที่ทำงาน