ดิฉันชวนเจ้าลูกชายคนเล็ก “สิน สิทธิสมาน” ลองเขียนบทความดูบ้าง เพราะพี่ชาย “สรวง สิทธิสมาน” ก็เขียนไปแล้วหลายชิ้น อยากให้ลองฝึกปรือกระบวนการคิด และลงมือเขียนบ้าง ทีแรกคิดว่าเขาจะอิดออด แต่ผิดคาด เขาตอบตกลงทันที เมื่อมีข้อแลกเปลี่ยนอนุญาตให้ไปเที่ยวได้ เขาบอกว่า อยากเขียนถึงโรงเรียนของเขา เพราะปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่ต้องอยู่ที่นี่ อีกไม่กี่เดือนก็ต้องก้าวออกจากโรงเรียนแห่งความทรงจำของเขาแล้ว จึงกลายมาเป็นบทความชิ้นนี้
และทำให้เขาได้เขียนถึงความรู้สึกของการเป็นเด็กนักเรียนประจำชายล้วนตลอด 9 ปี
…........................................
หลังจากวันนั้นถึงวันนี้ผ่านมา 9 ปีแล้ว ที่ได้เข้ามาเรียนในโรงเรียนประจำนักเรียนชายล้วนแห่งหนึ่ง เป็นโรงเรียนที่มีพื้นที่กว้างขวางโดยสนามหญ้าเขียวขจีขนาดใหญ่ถึง 2 สนาม เป็นโรงเรียนที่มีตึกรูปทรงคล้ายวัด เป็นโรงเรียนที่มีบ่อน้ำขนาดใหญ่ มีต้นไม้ใหญ่มากมาย มีหอนาฬิกาสูง และยังเป็นโรงเรียนที่มีสะพานลอยข้ามถนนเป็นของตัวเองอีกด้วย โรงเรียนแห่งนี้มีชื่อว่า
“วชิราวุธวิทยาลัย”
ผมได้เข้ามาเรียนที่วชิราวุธวิทยาลัยตั้งแต่ชั้นแรกที่โรงเรียนประจำแห่งนี้เปิดสอนในปัจจุบัน คือชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เมื่อปีการศึกษา 2551 ก่อนที่จะเข้าโรงเรียนนี้ได้ก็ต้องมีการสอบเข้าหลายรอบ ทั้งสอบข้อเขียน สอบสัมภาษณ์ ซึ่งไม่ใช่แค่สัมภาษณ์ผมแต่ยังสัมภาษณ์พ่อแม่ด้วย
และเมื่อสอบผ่านแล้วก็จะมีการให้ทดลองมาใช้ชีวิตประจำ หรือมาเรียนซัมเมอร์ก่อน 5 วัน เป็นจำนวน 2 ครั้ง ซึ่งครั้งแรกที่มาเรียนซัมเมอร์ ผมก็จำได้เลยว่าร้องไห้แทบทุกวัน เพราะคิดถึงบ้านมาก พอมีเวลาว่างหรือช่วงที่ไม่มีกิจกรรมก็มักจะมาจับกลุ่มนั่งร้องไห้กับเพื่อนตลอด
หลังจากนั้น ผมก็ได้เข้ามาเรียนประถมศึกษาปีที่ 4 จนได้ ซึ่งคราวนี้ไม่ได้อยู่โรงเรียนแค่ 5 วัน แต่ต้องอยู่ถึง 2 สัปดาห์ หรือประมาณ 12 วัน คือ จะเข้าโรงเรียนในช่วงบ่ายวันอาทิตย์และกลับบ้านวันศุกร์ของอีกสัปดาห์ถัดไป โชคดีที่ผมมีพี่ชายที่เรียนอยู่ที่เดียวกัน ซึ่งเข้ามาเรียนก่อนผมหนึ่งปี
สิ่งที่จะช่วยทำให้เราหายคิดถึงบ้านได้ นั่นก็คือ กิจกรรมที่โรงเรียนมีให้หลากหลายมากมายนั่นเอง นอกจากการเรียนการศึกษาที่มีให้เหมือนที่ทุกๆ โรงเรียนมีแล้ว วชิราวุธวิทยาลัยยังมีกิจกรรมดนตรีและกีฬาให้เลือกเล่นได้ตามความถนัด
ในส่วนของกิจกรรมดนตรีนั้นก็ให้เด็กนักเรียนทุกคนเลือกว่าอยากเล่นเครื่องดนตรีอะไร อยากเข้าวงดนตรีประเภทไหน มีหลายชนิดมาก ได้แก่ วงเมโลดิก้า, วงปี่สก็อตช์, วงโยธวาทิต, วงจุลดุริยางค์, วงแจ๊ส และ วงดนตรีไทย โดยผมเลือกเล่นไวโอลิน เพราะเคยเรียนมาก่อนที่จะเข้ามาเรียนที่นี่แล้ว ไม่นานนักก็ได้รับคัดเลือกให้เข้าไปอยู่ในวงจุลดุริยางค์ในเวลาต่อมาโดยประจำตำแหน่งไวโอลิน 2 อยู่หนึ่งปี แล้วขยับขึ้นมาเป็นไวโอลิน 1 ล่าสุด ในปีนี้อันเป็นปีสุดท้ายก่อนจะจบการศึกษาจากโรงเรียนผมได้รับเลือกให้เป็นคอนเสิร์ตมาสเตอร์ประจำวง
ช่วงเย็นๆ ประมาณ 4 โมงของทุกวัน จะมีกิจกรรมกีฬาให้เล่นอีก โดยกีฬาหลักของโรงเรียนนี้ที่บังคับเล่น คือ รักบี้ฟุตบอล อันเป็นกีฬาที่สอนความป็นสุภาพบุรุษ ทุกคนในโรงเรียนต้องเล่นเป็น แต่ก็ยังมีกีฬาอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล ว่ายน้ำ ฯลฯ
แม้แต่ในวันเสาร์ก็ยังมีชมรมให้เลือกอีกมากมาย เมื่อเริ่มคุ้นชินแล้วจึงทำให้เด็กนักเรียนคลายความคิดถึงบ้านไปเลย
ชีวิตในช่วงชั้นประถมระยะเวลา 3 ปี ที่วชิราวุธเรียกว่าเด็กเล็ก อาคารเรียน และอาคารที่พัก เรียกว่า คณะ ตั้งอยู่ฝั่งซ้ายของถนนสุโขทัย เวลาผ่านไปไวมาก หลังจากนั้น ผมก็เข้ามาเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่เรียกว่าเด็กโต หรือคณะใน ต้องย้ายฝั่งข้ามสะพานลอยมายังฝั่งขวาของถนนสุโขทัย ว่ากันว่าจะเป็นชาววชิราวุธสมบูรณ์แบบก็ต่อเมื่อได้เข้ามาในคณะใน หรือเด็กโต แล้ว
ชีวิตในชั้นมัธยมนั้น แตกต่างจากประถมโดยสิ้นเชิง เพราะถ้าอยู่ประถมก็จะมีคุณครูหัวหน้าคณะเป็นผู้คอยดูแลทุกข์สุขของนักเรียน เวลาทำผิดก็จะโดนทำโทษนิดๆ หน่อยๆ แต่ถ้าเข้ามาในฝั่งมัธยมนั้นจะมีพี่หัวหน้าคอยดูแล ซึ่งพี่เหล่านี้จะอยู่ระดับมัธยม 6 เป็นส่วนใหญ่ มัธยม 5 ก็มีบ้าง โดยจะได้รับการแต่งตั้งจากผู้กำกับคณะอีกที เวลาทำผิดก็จะโดนสั่งให้วิดพื้น หรือออกกำลังกายท่าแปลกๆ ซึ่งก็แล้วแต่ละรุ่น
หลักคิดของโรงเรียนที่มีมายาวนานคือให้นักเรียนปกครองกันเอง ผู้กำกับคณะเป็นเพียงพี่เลี้ยงคอยดูแลเท่านั้น
ถ้าเราทำผิดคนเดียว แต่โทษส่วนใหญ่ก็จะเป็นโทษส่วนรวมสำหรับเพื่อนทุกคน ซึ่งเพื่อนๆ ก็จะพากันเหนื่อยไปด้วย ทำให้เราได้เรียนรู้ในหลายๆ อย่าง ทั้งการร่วมทุกข์ร่วมสุข ความสามัคคี การให้อภัย และความอดทน โดยในช่วงมัธยมต้น คือ มัธยม 1 - 3 เราก็จะใช้ชีวิตลำบากพอสมควร ทั้งเหนื่อย ทั้งกลัว แต่ถ้าเราผ่านมันมาได้ ก็คือก้าวหนึ่งในชีวิตที่สร้างความภูมิใจเลย เพราะเป็นการฝึกภาวะผู้นำ และผู้ตามด้วย
หลังจากนั้นผมก็ขึ้นเรียนในช่วงชั้นมัธยมปลายคือมัธยม 4 - 6 ในช่วงนี้ก็จะเป็นช่วงชีวิตที่สุขสบายขึ้น เพราะเป็นรุ่นพี่แล้ว เราสามารถมีเด็กมัธยมต้นให้เราได้วานใช้งานได้บ้าง เช่น ให้ไปหยิบของนู่นนี่หรือให้จัดตู้จัดโต๊ะให้ ซึ่งตอนเด็ก ๆ เราก็เคยทำให้รุ่นพี่มาก่อน เรียกว่าระบบซีเนียร์ริตี้ เป็นระบบที่ทำให้เด็กที่นี่รักกันมาก และทำให้พวกเราเรียนรู้ว่าระบบนี้ถ้าผู้นำดีก็จะยิ่งทำให้กระชับความสัมพันธ์ที่ดี
แต่กระนั้น ความสุขสบายแบบนี้ก็ไม่ได้แลกมาง่ายๆ อย่างที่เราเคยได้ยินกันว่า “สิทธิย่อมมาพร้อมหน้าที่” โดยในช่วงมัธยมปลายนี้เราก็ต้องขึ้นมาเป็นผู้นำในหลายด้าน ทั้งด้านดนตรี ก็ต้องขึ้นมาคอยสอนน้องๆ คอยช่วยประคับประคองวงให้เล่นได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างที่รุ่นก่อนๆ เคยทำไว้ หรือด้านกีฬาก็ต้องขึ้นมาคอยช่วยคุมน้องๆ คอยสอนคอยหนุนหลังเสมอ หรือแม้ในเรื่องความเป็นอยู่เราก็ต้องคอยพาน้องๆ ไปในทางที่ดีหรือไปในทางที่สมควร
สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีใครมาบังคับให้เราทำ แต่เป็นสิ่งที่โรงเรียนสอนและปลูกฝังเราตั้งแต่เด็ก ถึงวันนี้ ผมก็เหลือเวลาอีกไม่ถึงเดือนแล้วที่จะจบจากวชิราวุธวิทยาลัยนี้ไป ปีนี้เป็นปีที่ 9 ที่ผมจะได้ใช้ชีวิตในโรงเรียนเป็นปีสุดท้าย ถึงตอนนี้ผมก็รู้สึกอยากจะร้องไห้เหมือนตอนอยู่ประถม 4 อีกครั้ง
แต่ครั้งนี้ไม่เหมือนตอนประถม 4 ที่ร้องไห้เพียงแค่คิดถึงบ้านอีกแล้ว หากแต่ครั้งนี้มันเป็นความรู้สึกที่ว่าผมจะต้องจากโรงเรียนนี้แล้วจริงๆ หรือ !
จะตื่นเช้ามาไม่ได้เจอหน้าเพื่อนพร้อมหน้าพร้อมตาอีกแล้ว จะไม่ได้ใช้ชีวิตที่แสนจะสงบที่ไม่ต้องไปเจอรถติดตอนเช้าตอนเย็นแล้วจริงหรือ !
ต่อจากนี้ผมกำลังจะออกไปสู่โลกแห่งความจริงโดยมีวิชาความรู้ที่โรงเรียนสอนติดตัวมาด้วย ทั้งวิชาความรู้ในห้องเรียน วิชาศิลปะ ดนตรี อีกทั้งความแข็งแรงของร่างกายที่เกิดจากการเล่นกีฬาเป็นชีวิตประจำวันใน 9 ปี แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ คุณธรรม ไม่ว่าจะเป็นความซื่อสัตย์ ความกตัญญู และ ความเป็นสุภาพบุรุษ ดั่งในพระบรมราโชบายในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ว่า
“ข้าไม่ต้องการตำราเรียนที่เดินได้ ที่ข้าอยากได้นั้นคือเยาวชนที่เป็นสุภาพบุรุษ ซื่อสัตย์ สุจริต และมีอุปนิสัยใจคอดี”
อันเป็นต้นแบบของแนวทางการดำเนินชีวิตของผมมาตลอดระยะเวลา 9 ปี