สปส. เผย ร่าง พ.ร.บ. คืนสิทธิผู้ประกันตน อยู่ระหว่างกฤษฎีกาตีความ คาด ไม่มีปัญหา แต่มีระบบส่ง SMS ป้องกันปัญหาขาดส่ง ย้ำ เริ่มเตือนเมื่อขาดส่ง 1 เดือน
วันนี้ (24 ม.ค.) นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงความคืบหน้าการออก พ.ร.บ. การกลับมาเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. ... เพื่อคืนสิทธิให้ผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่ขาดส่งเงินสมทบจนถูกตัดสิทธิไปกว่า 9 แสนคน ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการออกกฎหมายเพื่อให้ประกาศใช้บังคับภายในปี 2560 ซึ่งอยู่ในขั้นตอนเสนอต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ คาดว่า ไม่มีปัญหา เพราะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประกันตน ส่วนการป้องกันการขาดส่งเงินสมทบนั้น ขณะนี้มีระบบการแจ้งเตือนผ่านเอสเอ็มเอส (SMS) ซึ่งได้ดำเนินการไปตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมา
“การแจ้งเตือนนั้น จะแจ้งเตือนตั้งแต่การขาดส่งใน 1 เดือนแรก เนื่องจากตามกฎหมายกำหนดว่า ต้องไม่ขาดส่งเกิน 3 เดือน และให้ส่งเงินภายในวันที่ 15 ของเดือนที่สาม ซึ่งหมายความว่า จะขาดส่งได้เพียงแค่ 2 เดือนครึ่ง ดังนั้น อาจกระทบกับผู้ประกันตนที่ไม่ทราบตรงจุดนี้ ทาง สปส. จึงได้แจ้งเตือนก่อนล่วงหน้าตั้งแต่ขาดส่งเงินสมทบตั้งแต่ 1 เดือน 2 เดือน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก” เลขาธิการ สปส. กล่าว
นพ.สุรเดช กล่าวว่า ในเรื่องการให้บริการทันตกรรม เมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา ให้ผู้ประกันตนใช้สิทธิกรณีทันตกรรมในสถานพยาบาลที่ทำข้อตกลงกับสำนักงานประกันสังคม โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ในอัตรา 900 บาทต่อปีต่อราย ได้แก่ การถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูนและผ่าฟันคุด รวมถึงการให้บริการตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน แก่ผู้ประกันตน หากเกินอัตราที่กำหนดผู้ประกันตนจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเองนั้น ขณะนี้มีสถานพยาบาล ที่ทำความตกลงกับ สปส. โดยในปี 2560 มีสถานพยาบาลเอกชนและคลินิกทันตกรรมที่เข้าร่วมโครงการกับ สปส. จำนวน 534 แห่ง ผู้ประกันตนสามารถสังเกตป้ายสติกเกอร์ ที่ระบุ “สถานพยาบาลแห่งนี้ให้บริการผู้ประกันตนกรณีทันตกรรม “ทำฟัน” ไม่ต้องสำรองจ่าย” ที่สถานพยาบาลเอกชน เพื่อเข้ารับบริการได้ทันที