อย.เร่งพัฒนา “วิสาหกิจชุมชน” อีก 2,000 กว่าแห่งได้รับมาตรฐาน Primary GMP เล็งปั้นศูนย์การเรียนรู้ 55 แห่งทั่วประเทศ เทรนด์งานวิสาหกิจชุมชนยังไม่ได้มาตรฐานการผลิต หวัง ปชช.ได้รับผลผลิตที่มีคุณภาพ ช่วยกระตุ้นส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศ
วันนี้ (22 ม.ค.) ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังนำคณะลงพื้นที่ศึกษาดูงานตามนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ที่วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านแคว อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ว่าการนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อจำหน่ายและเลี้ยงตัวเองได้ สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ถือเป็นแนวทางหนึ่งตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย ซึ่ง อย.ได้น้อมนำแนวทางพระราชดำริดังกล่าวและเพิ่มบทบาทเป็นองค์กรที่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจด้วย โดยส่งเสริมชุมชนให้สามารถพึ่งตนเองได้ โดยเฉพาะในส่วนของการกำกับดูแลคุณภาพมาตรฐาน ยกตัวอย่าง วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านแคว ถือเป็นสถานที่ผลิตอาหารตามมาตรฐาน GMP และ HACCP ได้รับรางวัล อย.ควอลิตี อวอร์ด ปี 2553 และ 2558 รวมทั้งมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และอาหารฮาลาล โดยนำผลไม้ในท้องถิ่นที่ออกผลตามฤดูกาลมาแปรรูป เพื่อให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น สามารถเก็บไว้ได้นาน ด้วยการอบแห้ง โดยใช้โรงอบพลังงานแสงอาทิตย์และเตาอบลมร้อนที่ไม่มีเขม่า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มียอดขายเฉลี่ยปีละกว่า 10 ล้านบาท
"ขณะนี้มีวิสาหกิจชุมชนประมาณ 4,000 กว่าแห่ง ได้รับการรับรองคุณภาพตามมาตรฐาน Primary GMP เพียงครึ่งเดียว คือ ประมาณ 2,000 แห่งเท่านั้น อีก 2,000 กว่าแห่งที่เหลือตั้งใจจะยกระดับคุณภาพให้ได้รับมมาตรฐาน Primary GMP ทุกแห่งภายในปีนี้ โดยจะมีการอบรมศูนย์เรียนรู้เพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชนที่ยังไม่ได้รับมาตรฐาน Primary GMP จำนวน 55 ศูนย์ ซึ่งวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านแคว ถือเป็น 1 ใน 55 ศูนย์การเรียนรู้ เนื่องจากมีการพัฒนาจนได้รับมาตรฐานระดับ GMP ก็จะเป็นหนึ่งในศูนย์การเรียนรู้ในการช่วยพัฒนาวิสาหกิจชุมชนแห่งอื่น" รองเลขาธิการ อย.กล่าว
ภก.ประพนธ์กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนฯ บ้านแคว เข้าสู่ระบบโรงงาน มาตรฐานจึงสูงมาก เพราะถูกตรวจสบโดยหน่วยงานต่างๆ จำนวนมาก และพัฒนาตนเองไปไกลถึงขั้นมีชาวต่างประเทศมาซื้อ การจะพัฒนาให้วิสาหกิจชุมชนอื่นๆ สามารถพัฒนาตัวเองจนมีรายได้และความยั่งยืนเช่นนี้ ทุกหน่วยงานต้องเข้ามาร่วมกัน เพราะการพัฒนามาถึงระดับโรงงานผลิตอาหารต้องมีงบประมาณและการลงทุนจำนวนมาก อีกทั้งต้องเสียภาษีด้วย ซึ่งการจะส่งเสริมไปให้ไกลถึงระดับนี้ตามแนวคิดเกษตรกร 4.0 ของนายกรัฐมนตรี จังหวัดต้องเข้ามาช่วยเหลืออย่างมาก ซึ่งรัฐบาลเองก็มีงบกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1 แสนล้านให้กับแต่ละจังหวัดในการทำโครงการ ก็ต้องมาคิดหาจุดเด่นที่ต้องกาาพัฒนาของแต่ละจังหวัด จากนั้นทำเรื่องเสนอของบประมาณในการนำมาช่วยเหลือในการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ก็จะช่วยให้มีความยั่งยืนได้เหมือนวิสาหกิจชุมชนฯ บ้านแคว
นางทองเทียน ศรีสว่าง ประธานวิสาหกิจชุมชนฯ บ้านแคว กล่าวว่า เดิมวิสาหกิจฯ บ้านแควเป็นการรวมตัวกันของแม่บ้านในหารทำผลไม้แช่อิ่มและผลไม้เชื่อม ซึ่งเป็นการทำแบบยังม่มีมาตรฐาน ทำกันกับพื้น แต่เมื่อปี 2540 มีกฎหมายกำหนดว่าต้องมี อย.จึงจะจำหน่ายในห้องสรรพสินค้าได้ ก็เข้ารับการอบรมจาก อย.และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ (สสจ.) ในการพัฒนาการผลิตอาหารให้ไมาตรฐาน ซึ่งมีการพัฒนามาเรื่อยๆ จนถึงระดับมาตรฐาน GMP อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวิสาหกิจชุมชนสามารถสร้างรายได้อย่างมาก จึงถูกเก็บภาษีและต้องเข้าระบบโรงงาน จากตอนแรกที่บ่ายเบี่ยง ภายหลังก็ได้รับการช่วยเหลือจากหลายๆ ฝ่ายทั้งการสนับสนุนงบประมาณในการสร้างโรงอบและอุปกรณ์ต่างๆ และได้รับเงินทุนกู้ไม่มีดอกเบี้ยจากกรมส่งเสริมการเกษตร จึงตัดสินใจพัฒนางานจนสุดท้ายสามารถสร้างรายได้อย่างมาก จึงอยากให้วิสาหกิจชุมชนอื่นตัดสินใจพัฒนาตัวเอง เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น ซึ่งแต่ละปีได้ผลผลิตมะม่วงถึง 20 ตันลำไย 20 ตัน รายได้เฉลี่ยปีละ 10 ล้านบาท ก็เกิดความยั่งยืน และยังมีการนำเปลือกผลไม้มาฝังกลบในบ่อขุดเป็นเวลา 2 ปีเพื่อนำมาทำเป็นปุ๋ยในการทำเกษตรต่อด้วย