วงการศิลปะไทยสูญเสีย “นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน” ศิลปินแห่งชาติผู้สร้างสรรค์งานศิลปะมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปี ผู้มีความโดดเด่นและสร้างชื่อเสียงทั้งในไทยและต่างประเทศ
นางพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า ศาสตรเมธี นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) พุทธศักราช 2549 ถึงแก่กรรมเมื่อวันเสาร์ที่ 21 มกราคม 2560 เวลา 22.15 น. ที่จังหวัดชลบุรี เนื่องจากหัวใจล้มเหลว สิริรวมอายุ 70 ปี โดยทายาทได้กำหนดรดน้ำศพ เวลา 16.00 น. และจะมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพในเวลา 17.00 น.ในวันที่ 23 มกราคม 2560 ที่วัดเครือวัลย์วรวิหาร ศาลา 2 บางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ และกำหนดสวดพระอภิธรรมศพระหว่างวันที่ 23-29 มกราคม 2560 เวลา 18.30 น.
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) จะดำเนินการขอพระราชทานเพลิงศพ พร้อมมอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมทำบำเพ็ญกุศลศพจำนวน 20,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาท
นางพิมพ์รวีกล่าวว่า รู้สึกเสียใจและเสียดายที่ประเทศชาติได้สูญเสียศิลปินแห่งชาติผู้มีความโดดเด่นทางด้านประติมากรรม ท่านได้สร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าที่มีเนื้อหาทางแฝงปรัชญาทางพระพุทธศาสนาไว้มากมาย และยังได้สร้างคุณประโยชน์ทางด้านศิลปะแก่สังคมและวงการศึกษาศิลปะของไทยมาอย่างต่อเนื่อง
ประวัติ
ศาสตรเมธี นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ปัจจุบันอายุ 70 ปี เกิดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2489 ที่กรุงเทพมหานคร สำเร็จการศึกษามหาบัณฑิตสาขาประติมากรรม จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นศิลปินที่สร้างสรรค์งานศิลปะมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปี ศาสตรเมธี นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน เป็นประติมากรที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย ผลงานที่โดดเด่นเป็นรูปทรง 3 มิติ มีความสัมพันธ์ของเส้นและปริมาตรอันกลมกลืนงดงาม โดยนำเสนอผ่านความรู้สึก อารมณ์และความปรารถนา เพื่อให้สังคมได้ตระหนักถึงความเป็นจริงของธรรมชาติ และต่อมาในภายหลังได้สร้างสรรค์ผลงานที่มีเนื้อหาแฝงปรัชญาทางพุทธศาสนา ผลงานได้รับรางวัลจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติหลายครั้ง รวมทั้งได้รับเกียรติให้สร้างประติมากรรมกับสิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศ เช่น ออกแบบเหรียญและทำต้นแบบเหรียญพระมหาชนกถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชออกแบบประติมากรรมนูนสูงติดตั้งสระน้ำภายในบริเวณสวนหลวง ร.๙ และดำเนินการปั้นดินต้นแบบและควบคุมการหล่อทองเหลืองแล้ว ปิดทองพระประธานและพุทธสาวกเพื่อประดิษฐานในพระอุโบสถ วัดพระรามเก้ากาญจนาภิเษก เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นผู้เผยแพร่ความรู้ และสร้างคุณประโยชน์ทางด้านศิลปะแก่สังคมและวงการศึกษาศิลปะของไทยมาโดยตลอด