สวทน. สานต่อ “โครงการวิล” โรงเรียนในโรงงานปีที่ 5 รุกภาคเหนือ และอีสาน ปั้นเด็กวิทย์ - เทคโนโลยี เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม - บริษัทยักษ์ใหญ่ ตั้งเป้าเด็กเข้าร่วมโครงการ 300 คน
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กล่าวว่า สวทน. เป็นหน่วยงานที่ริเริ่มโครงการบูรณาการการเรียนกับการทำงาน “วิล” (Work-integrated Learning :WiL) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษา ซึ่ง สวทน. ได้ร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม และสถาบันการศึกษา รับสมัครนักเรียนที่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาสายสามัญ จากโรงเรียนในชนบทมาเข้าโครงการ ซึ่งเด็กที่เข้าร่วมโครงการนี้ นอกจากจะได้เรียนจนสำเร็จวุฒิการศึกษาเหมือนนักศึกษาในสถาบันการศึกษาทั่วไปแล้ว ระหว่างที่เรียนยังจะได้รับประสบการณ์จริง จากการทำงานในสายการผลิตของภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการ มีการนำเอาความรู้จากงานที่ทำเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียน ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ และยังได้รับค่าแรงเป็นรายได้ระหว่างเรียนอีกด้วย
ดร.กิติพงค์ กล่าวต่อว่า โครงการวิลจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 5 แล้ว โดยในปีนี้มีบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่ง สนใจเข้าร่วมโครงการ ทั้ง บริษัท โซนี่ ที่ต้องการกำลังคนที่มีความรู้ด้านอิเล็กทรอนิกส์ บริษัท มิชลิน และ บริษัท กู๊ดเยียร์ ผู้ผลิตยางรถยนต์ยักษ์ใหญ่ที่ต้องการกำลังคนทางด้านเทคนิคและเทคโนโลยี รวมถึงบริษัท ชินเอทสึ บริษัทผู้ผลิตซิลิโคนชั้นนำจากญี่ปุ่น ก็มาเข้าร่วมโครงการกับเราด้วย ทั้งนี้ บริษัทที่เข้าร่วมโครงการวิล จะสามารถขอรับสิทธิประโยชน์จากนโยบายและมาตรการส่งเสริมการลงทุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบคลัสเตอร์ ในการขอรับสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษี ซึ่งเป็นคลัสเตอร์สำหรับกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยในปีนี้ บริษัท มิชลิน, กู๊ดเยียร์ และ บริษัท ชินเอทสึ ได้เข้าร่วมขอรับสิทธิ์ดังกล่าวกับทาง สวทน. ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนมากถึง 20,986 ล้านบาท
สำหรับปีนี้ โครงการวิล ได้เปิดรับสมัครเด็กที่ต้องการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) โดยเริ่มจากภาคเหนือ แล้วขยายมายังภาคอีสาน ซึ่งทาง สวทน. และภาคอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการได้ลงพื้นที่ ร่วมกันเฟ้นหาเด็ก ซึ่งมีความรู้ความสามารถ เหมาะที่จะเข้าร่วมโครงการ ผ่านการสอบข้อเขียน การสอบปฏิบัติและการสอบสัมภาษณ์ โดยมีเป้าหมายว่า ในปี 2560 นี้ จะมีเด็กเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นประมาณ 300 คน
“ทั้งนี้ พบว่า ปัจจุบันความต้องการกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย มีสูงมาก แต่เด็กที่เรียนจบและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในเรื่องดังกล่าว ยังมีไม่เพียงพอที่จะป้อนสู่สายการผลิตในภาคอุตสาหกรรม โครงการนี้จึงเข้ามาตอบโจทย์ ในเรื่องการพัฒนากำลังคน ทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีได้เป็นอย่างดี รวมถึงยังช่วยให้เด็กในชนบทซึ่งเรียนดีแต่ยากจน ได้มีโอกาสเรียนและทำงานไปด้วยในเวลาเดียวกัน ส่วนภาคอุตสาหกรรมก็ได้กำลังคนที่เชี่ยวชาญและทำงานได้จริง อีกทั้งยังขอรับสิทธิประโยชน์ จากนโยบายและมาตรการส่งเสริมการลงทุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบคลัสเตอร์ได้อีกด้วย” ดร.กิติพงค์ กล่าว