xs
xsm
sm
md
lg

เปิดขั้นตอน “ขจัดเชื้อราในบ้าน” - “วิธีล้างตลาด” หลังน้ำท่วมลดระดับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมอนามัยเตือนประชาชน รีบทำความสะอาดบ้าน สถานที่สาธารณะหลังน้ำท่วมลดระดับ ป้องกันเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค แนะวิธีทำความสะอาดบ้านจากเชื้อนา และขั้นตอนการล้างตลาด สบส.แนะสวมรองเท้าป้องกันการบาดเจ็บขณะทำความสะอาด

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ขณะนี้หลายจังหวัดได้กลับคืนสู่สภาวะปกติ ประชาชนควรเร่งทำความสะอาดบ้านเรือนและสถานที่สาธารณะต่างๆ รวมถึงสถานที่ผลิตและจำหน่ายอาหาร อาทิ ตลาดสด ร้านอาหาร มินิมาร์ท ที่ได้รับผลกระทบ เพราะช่วงน้ำท่วมจะพัดพาสิ่งสกปรกมาจากทุกสารทิศ ทั้งโคลนตม ขยะ วัสดุ สิ่งของต่างๆ ส่งผลให้เกิดการหมักหมม อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการระบาดของโรคได้ จึงต้องมีการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและที่พักอาศัยให้สะอาดปลอดภัยตามหลักสุขาภิบาล เพราะหากปล่อยไว้นานจะกลายเป็นแหล่งสะสมและแพร่กระจายของเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อราที่สามารถพบได้หลังน้ำลด ตามบริเวณพื้น ฝาผนัง วอลเปเปอร์ เฟอร์นิเจอร์ ที่นอน หมอน พรม รวมถึงตู้แช่อาหาร ตู้เย็น จำเป็นต้องได้รับการล้างทำความสะอาดอย่างเร่งด่วน

นพ.วชิระ กล่าวว่า ประชาชนบางรายอาจตื่นตระหนกกับปัญหาเชื้อราที่เกิดขึ้นภายในและภายนอกบ้านหลังน้ำลด ซึ่งความเป็นจริงแล้วสามารถกำจัดให้หมดไปได้หากมีการล้างทำความสะอาดตามหลักสุขาภิบาล โดยเริ่มตั้งแต่เปิดประตู หน้าต่าง และควรเปิดรับแสงสว่างจากธรรมชาติเป็นประจำ ห้ามเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศขณะทำความสะอาดบ้านหรือขณะกำจัดเชื้อรา เพราะจะทำให้สปอร์เชื้อราฟุ้งกระจาย นอกจากนี้ ควรทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในเครื่องใช้ เครื่องเรือน เครื่องนอน และเฟอร์นิเจอร์ เช่น ฟูก ที่นอน หมอน พรม เป็นประจำ ส่วนวอลล์เปเปอร์หรือฉนวนกันความร้อนที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก ต้องนำไปทิ้งในถุงที่ปิดมิดชิดโดยทันที เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อรา

“การจัดการเชื้อราในบ้านทำได้ 3 ขั้นตอน คือ 1. พื้นผิววัสดุที่พบเชื้อราให้ใช้กระดาษทิชชูแผ่นหนาและขนาดใหญ่ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์พรมน้ำให้เปียกเล็กน้อย เช็ดพื้นผิวไปในทางเดียว แล้วนำกระดาษทิชชู หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ดังกล่าวทิ้งลงในถังขยะที่ปิดมิดชิด 2. ใช้กระดาษทิชชูแผ่นหนาและขนาดใหญ่ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ ชุบน้ำผสมสบู่หรือน้ำยาล้างจาน เช็ดซ้ำในจุดที่มีเชื้อราอีกครั้ง และ 3. ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อรา เช่น น้ำส้มสายชู 5 - 7 เปอร์เซ็นต์ หรือแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 60 - 90 เปอร์เซ็นต์ เช็ดทำความสะอาดเพื่อเป็นการทำลายเชื้อในขั้นตอนสุดท้าย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

นพ.วชิระ กล่าวว่า สำหรับการล้างตลาดหลังน้ำท่วม สามารถทำได้โดยการเตรียมอุปกรณ์ก่อน คือ รถยนต์สูบน้ำ โซดาไฟ ผงคลอรีน ฝักบัวรดน้ำ สายยาง แปรงถูพื้น และรองเท้าบูต ส่วนขั้นตอนการล้างทำความสะอาด มีดังนี้ 1. กวาดรวบรวมเศษขยะบริเวณทั่วไปและบริเวณรางระบายน้ำ 2. ใช้รถยนต์สูบน้ำแรงดันสูง ฉีดล้างในส่วนที่ไม่สามารถใช้ไม้กวาดเข้าถึง คราบดินที่เกาะติด และเศษขยะตกค้าง 3. ทำความสะอาดแผงด้วยน้ำยาทำความสะอาด หรือผงซักฟอก โดยกรณีที่มีไขมันจับหนา ให้ใช้โซดาไฟ 96% 2 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 10 ลิตร หากไขมันจับน้อย ใช้โซดา 96% 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 1 ลิตร 4. ใช้น้ำสะอาดฉีดล้างสารเคมีและสิ่งสกปรกออกให้หมด 5. ใช้ผงปูนคลอรีน 60% 1 ช้อนชาต่อน้ำ 20 ลิตร ละลายผงปูนคลอรีนในถ้วยแก้วและให้ตกตะกอน ใช้ส่วนที่เป็นน้ำใสใส่ฝักบัวรดบริเวณแผง เขียง และบริเวณทั่วไป และ 6. ทำความสะอาดห้องส้วมและที่พักขยะด้วยผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาดและราดด้วยน้ำผสมคลอรีน

นพ.ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า หลายพื้นที่ภายหลังน้ำลดปรากฏว่ามีดินโคลนจำนวนมากหนา 15 - 30 เซนติเมตร จึงขอแนะนำให้ประชาชนเริ่มทำความสะอาดบ้านเรือน เมื่อน้ำลดถึงระดับข้อเท้าเนื่องจากจะทำความสะอาดได้ง่าย และดินโคลนไม่จับเป็นตะกอน แต่หากปล่อยให้ดินโคลนแห้งจะยากต่อการทำความสะอาดสิ้นเปลืองน้ำมาก และให้เปิดประตู หน้าต่างบ้านเพื่อระบายอากาศไม่ให้อับชื้น ทั้งนี้ ก่อนทำความสะอาด ขอแนะนำให้ประชาชนสวมรองเท้าบูต หรือรองเท้าผ้าใบพื้นแข็ง หากไม่มีให้ใส่รองเท้าแตะที่พื้นแข็ง เพื่อป้องกันของมีคม อาทิ เศษแก้ว ตะปู สังกะสี กิ่งไม้ ที่อยู่ในโคลนตมทิ่มแทง เกิดบาดแผลเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคที่ปะปนอยู่ในดินโคลนได้ง่าย เช่น โรคบาดทะยัก โรคฉี่หนู เป็นต้น และเมื่อเสร็จภารกิจแล้วให้ชำระล้างร่างกาย ให้สะอาดทุกครั้ง

“กรณีเกิดบาดแผลจากการทำความสะอาด ขอให้รีบล้างบาดแผล ขจัดดินโคลนออกจากแผลด้วยน้ำสะอาดให้ได้มากที่สุด หากมีแอลกอฮอลล์ให้เช็ดผิวหนังบริเวณรอบแผลโดยเช็ดจากขอบแผลด้านในวนออกไปด้านนอกแผล 2 - 3 นิ้ว จากนั้นจึงใส่ยาฆ่าเชื้อ หากบาดแผลไม่ใหญ่ หรือไม่ลึก ไม่ต้องปิดแผลปล่อยให้แผลแห้งเอง แต่หากแผลลึกควรปิดปากแผลจากนั้นให้ไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อดูแลบาดแผลให้ถูกวิธี สำหรับผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยักมาก่อน เมื่อมีแผลต้องรีบปรึกษาแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย เพื่อพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก และประการสำคัญจะต้องดูแลรักษาบาดแผลให้สะอาดไม่ให้แผลโดนน้ำ รับประทานอาหารประเภทโปรตีน เช่น ไข่ เนื้อสัตว์ รวมทั้งผัก ผลไม้สดเพื่อช่วยให้บาดแผลหายเร็วยิ่งขึ้น” รองอธิบดี สบส. กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น