xs
xsm
sm
md
lg

เชื้อแบคทีเรีย “ซูเปอร์บัค” ดื้อยาทุกตัว คร่าชีวิตหญิงมะกันวัย 70 ปี กพย.ห่วงส่งต่อยีนดื้อยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ซีดีซี เผย “หญิงมะกัน” ติดเชื้อแบคทีเรียระดับ “ซูเปอร์บัค” ดื้อยาปฏิชีวนะทุกตัวที่มี สุดท้ายเสียชีวิตในวัย 70 ปี ที่รัฐเนวาดา ด้าน กพย. ชี้ เชื้อดื้อยาเกิดได้จากรับตัวเชื้อที่ดื้อยาอยู่แล้ว การกินยาปฏิชีวนะมากเกินไปจนเชื้อดื้อยา ห่วงถ่ายทอดยีนดื้อยาเชื้อแบคทีเรีย

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่า ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา (ซีดีซี) เปิดเผยถึงเหตุการณ์หญิงอเมริกันวัย 70 ปี เสียชีวิตลงที่รัฐเนวาดา สหรัฐอเมิรกา เมื่อช่วง ก.ย. 2559 จากการติดเชื้อแบคทีเรียระดับ “ซูเปอร์บัค” คือ มีการดื้อยาปฏิชีวนะทั้งหมด 26 ชนิดที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ มีรายงานว่า หญิงรายดังกล่าวใช้เวลาอยู่ในประเทศอินเดียค่อนข้างนาน ซึ่งประเทศอินเดียขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ใช้ยาปฏิชีวนะอย่างแพร่หลาย โดยจุดเริ่มต้นเกิดจากเธอประสบอุบัติเหตุจนกระดูกขาอ่อนด้านขวาหัก และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในอินเดีย แต่มีการติดเชื้อ และลามไปยังกระดูกสะโพก ซึ่งใช้เวลารักษาตัวอยู่ในอินเดียนาน 2 ปี

จากนั้นจึงเดินทางมารักษาตัวที่สหรัฐฯ ในเมือง Reno และถูกวินิจฉัยว่าติดเชื้อแบคทีเรีย ชื่อเรียกว่า ซีอาร์อี (Carbapenem-resistant Enterobacteriaceae) ซึ่งปกติพบในระบบทางเดินอาหารและไม่ก่อโรค แต่เมื่อเชื้อเกิดการเปลี่ยนที่ไปอยู่ในอวัยวะอื่น แบคทีเรียอาจก่อโรคและเกิดการดื้อยาหลายชนิด จนสุดท้ายเธอก็เสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด จากเชื้อแบคทีเรีย “เคลบเซลลา นิวโมเนีย” (Klebsiella pneumonia) ซึ่งเป้นเชื้อสายพันธุ์หนึ่งของซีอาร์อี และไม่มียาขนานไหนในตอนนี้ที่ปราบการติดเชื้อได้

ด้าน ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า จากข้อมูลตามข่าวทราบว่าหญิงรายดังกล่าวมีเชื้อแบคทีเรียดื้อยาถึง 26 ตัว เท่ากับว่า ดื้อต่อยาเกือบทุกตัวที่มีในสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าเชื้อดังกล่าวจะดื้อยาไปทั้งหมด เพราะบางคนอาจดื้อยาแค่ตัวเดียว แต่เมื่อเชื้อไปอยู่อีกคตนอาจดื้อยามากกว่า สาเหตุเพราะการรับเชื้อดื้อยามีหลายแบบ ทั้งการรับประทานยาปฏิชีวนะบ่อยครั้ง เป็นจำนวนมาก และใช้ยาที่มีฤทธิ์รุนแรง รวมถึงการรับประทานยาที่ไม่ต่อเนื่องจนไม่สามารถกำจัดเชื้อได้ ทำให้เชื้อดื้อยา หรือมาจากการรับประทานอาหารที่มียาปฏิชีวนะปนเปื้อนอยู่ รวมไปถึงตัวเชื้อแบคทีเรียที่รับเข้ามาในร่างกายนั้นมีการดื้อยาอยู่แล้ว อย่างโรงพยาบาลก็จะเจอปัญหาเชื้อดื้อยาค่อนข้างมาก สำหรับประเทศไทยที่น่ากลัวคือการส่งถ่ายของยีน MCR-1 และ MCR-2 จากแบคทีเรียดื้อยาไปยังแบคทีเรียตัวอื่นๆ ได้ ทั้งเชื้อที่ดีและไม่ดี ซึ่งส่งผ่านยีนดังกล่าวไปแล้วจะทำให้เชื้อแบคทีเรียที่ดีในร่างกายทำงานไม่ได้ และเชื้อที่ไม่ดีต่อร่างกายเกิดการปั่นป่วนและติดโรคขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น