xs
xsm
sm
md
lg

ปลดล็อกปัญหายาเสพติด แค่พลิกมุมคิด ชีวิต “เหยื่อ” ก็เปลี่ยน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ

ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 1 มกราคม 2560 ระบุว่า มีผู้ต้องขังรวมทั้งสิ้น 289,675 คน จำนวนผู้ต้องขังขนาดนี้ มากพอที่จะตั้งเป็นจังหวัด ซึ่งอาจเรียกว่า จังหวัดราชทัณฑ์ เพราะหากดูจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร ปี 2558 จะพบว่า มีถึง 8 จังหวัดที่มีประชากรน้อยกว่า 280,000 คน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ พบว่า ไทยมีจำนวนนักโทษมากเป็นอันดับที่ 6 ของโลก รองจาก สหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย บราซิล และอินเดีย แต่ต้องไม่ลืมว่า ทั้ง 6 ประเทศข้างต้น ล้วนแต่มีจำนวนประชากรมากกว่าประเทศไทยอย่างเทียบกันไม่ได้
คุณจิตรนรา นวรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดียาเสพติด นำเสนอข้อมูลในระหว่างการลงเยี่ยมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสันติวนา อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็น Drop in Center ในโครงการบำบัดรักษาผู้ติดฝิ่นด้วยเมธาโดนทดแทนระยะยาว ร่วมกับโรงพยาบาลไชยปราการ สถาบันธัญญารักษ์ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่า ปัจจุบันมีผู้ต้องขังชายร้อยละ 86 ที่เหลือร้อยละ 14 เป็นหญิง ร้อยละ 70 ของนักโทษทั้งหมดมาจากคดียาเสพติด แต่หากพิจารณาเฉพาะผู้ต้องขังหญิง พบว่า มาจากคดียาเสพติดถึงร้อยละ 90 สาเหตุที่ทำให้ต้องโทษ มักมาจากความไว้วางใจ หรือตกเป็นเครื่องมือของนักค้ายาเสพติดที่มาตีสนิท และหลอกใช้เป็นเครื่องมือในการเปิดบัญชีธนาคารเพื่อพักเงินจากการค้ายา หรือใช้ที่พักของฝ่ายหญิงเป็นที่เก็บยา เมื่อถูกจับกุม ฝ่ายชายที่เป็นนักค้ายามักจะให้การรับสารภาพ และได้ลดโทษ ส่วนฝ่ายหญิงมักจะสู้คดี เพราะมั่นใจว่าตนเองบริสุทธิ์ สุดท้ายก็ต้องโทษ ตกเป็นเหยื่อด้วยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ประชาชนในพื้นที่สูง โดยเฉพาะชาวเขา มีความผูกพันกับฝิ่นมายาวนานจนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในการดำเนินชีวิต รวมทั้งเป็นยากลางบ้านที่มีคุณสมบัติมากมาย ไม่ว่าจะใช้แก้ไอ ลดไข้ ห้ามเลือด แก้ปวด แก้ท้องเสีย ฯลฯ และเป็นของถูกกฎหมาย ต่อมาปี 2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ออกประกาศคณะปฏิวัติเห็นสมควรให้การเสพและจำหน่ายฝิ่นเป็นของผิดกฎหมาย ทำให้การเสพฝิ่นจะเป็นสิ่งต้องห้ามในทันที แต่กฎหมายไม่สามารถทำให้คนติดฝิ่น เลิกเสพฝิ่นได้ในฉับพลัน พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี ในขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้แสดงความเห็นว่า การป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเป็นแนวคิดในเชิงสงครามยาเสพติดมาตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี แต่แนวทางดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขปัญหายาเสพติดของประชากรโลกได้ จึงได้มีการทำผลการวิจัยและปรับเปลี่ยนแนวคิดในหลายๆ ประเทศ และได้ผลสรุปในทิศทางของโลก ว่า ควรคำนึงถึงการใช้วิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาเชิงสาธารณสุขในแง่สุขภาพ โดยเน้นว่า “ผู้เสพคือผู้ป่วย เพราะการเสพ การใช้ยาเสพติดเป็นอาการป่วยชนิดหนึ่ง”
การบำบัดรักษาผู้ติดฝิ่นด้วยเมธาโดนทดแทนระยะยาว จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่นำผู้ติดยาเสพติดมาใช้ “เมธาโดน” ทดแทนการเสพยาเสพติดประเภทฝิ่น หรืออนุพันธ์ของฝิ่น เนื่องจากมีผลเสียต่อร่างกายน้อยกว่า และทำภายใต้การควบคุม กำกับจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอย่างใกล้ชิด ทั้งการตรวจสุขภาพ การปรับขนาดเมธาโดน การให้คำแนะนำ การติดตามให้กำลังใจ ทำให้ผู้เสพมีสุขภาพกายและใจดีขึ้น สามารถกลับเข้าสู่สังคม ประกอบอาชีพได้ตามความถนัด ไม่เป็นภาระของครอบครัวและสังคมเหมือนในอดีต
“ในอดีต ผู้เสพยาไม่สามารถทำงานได้ หมดเรี่ยว หมดแรง หาเงินได้เท่าไรก็ต้องไปซื้อฝิ่นมาเสพ ร่างกายซูบผอม บางคนเป็นหัวหน้าครอบครัวแต่กลับเป็นภาระให้กับลูกเมีย จนเมื่อมาเข้าโครงการบำบัดรักษาผู้ติดฝิ่นด้วยเมธาโดนระยะยาว ทำให้สุขภาพร่างกายดีขึ้น มีเจ้าหน้าที่คอยให้กำลังใจอย่างใกล้ชิด ไม่ต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ กลับไปใช้ชีวิตและประกอบอาชีพได้ตามเดิม หลายรายประสบความสำเร็จจากการค้าขายและไม่ต้องเสียเงินไปซื้อยาเสพติดมาเสพ มีรายได้มากกว่าข้าราชการอย่างผมเสียอีก” คุณวิทยา ผ่องศรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสันติวนา กล่าวอย่างภาคภูมิใจและบอกว่าหัวใจแห่งความสำเร็จ อยู่ที่การทำงานประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างโรงพยาบาลไชยปราการ และ รพ.สต.สันติวนา โดยโรงพยาบาลให้การสนับสนุนเมธาโดน และส่งเภสัชกรมาปรับขนาดความเข้มข้นของเมธาโดนให้เหมาะสมกับผู้ป่วย โดยใช้ รพ.สต. เป็น Drop in Center หรือศูนย์ในการจ่ายเมธาโดน จ่ายให้เดือนละครั้งโดยผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปถึงโรงพยาบาล ในระหว่างเดือน รพ.สต.จะทำหน้าที่ในการเป็นพี่เลี้ยง คอยติดตามเยี่ยมบ้าน และให้คำปรึกษา ทำให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจและหลายรายเลิกเสพยาและเลิกใช้เมธาโดนได้ในที่สุด
แนวคิด “ผู้เสพคือผู้ป่วย” จึงน่าจะเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในระยะยาว ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายร่วมกันแก้ไข ผลสำเร็จที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นความสำเร็จของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นความสำเร็จของคนไทยร่วมกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น