xs
xsm
sm
md
lg

แนะวิธีสร้างความมั่นคงทาง “อารมณ์” ให้ลูก ลดเสี่ยงอาชญากรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมสุขภาพจิตแนะวิธีเลี้ยงลูกให้มีความผูกพันทางอารมณ์ที่ดี เน้น “กินอิ่มท้อง อบอุ่นใจ” ลดเสี่ยงก่ออาชญากรรมวัยเด็กได้ เป็นของขวัญชิ้นสำคัญวันเด็กแห่งชาติ

วันนี้ (13 ม.ค.) ที่สถาบันราชานุกูล น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวภายหลังเปิดงาน “รักและผูกพัน สร้างสรรค์เด็กไทย” เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2560 ว่า พื้นฐานสำคัญที่สุดในการเลี้ยงดูเด็กอยู่ที่ความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว ที่จะพัฒนาต่อไปเป็นความผูกพันระหว่างผู้เลี้ยงดูกับเด็ก เด็กแต่ละคนจะมีความผูกพันกับผู้เลี้ยงดูที่อยู่รอบตัวได้หลายคน เช่น เด็กที่อยู่ในครอบครัวขยายจะมีความผูกพันกับปู่ย่า ตายาย ลุงป้าน้าอา ที่อยู่ในบ้าน คอยดูแลหรือเล่นกับเด็กๆ แต่เด็กจะมีความผูกพันที่แน่นแฟ้น เหนียวแน่น และลึกซึ้งจนกลายเป็น “ความผูกพันทางอารมณ์” ซึ่งเป็นความผูกพันแบบพิเศษกับผู้เลี้ยงดูเพียงคนใดคนหนึ่งเท่านั้น ที่ “รู้ใจ” และ “เข้าใจ” นิสัยใจคอของเด็กเป็นอย่างดี โดยการเข้าใจนี้ไม่ได้หมายถึงการตามใจเด็ก แต่เป็นความเข้าใจที่ช่วยให้เด็กรู้สึกสงบ ปลอดภัยเมื่ออยู่ใกล้ๆ และสามารถสังเกตได้จากการที่เด็กติดใครในบ้าน เมื่อใครออกจากบ้านแล้วเด็กร้องตาม ในเวลาที่เด็กง่วงนอนจะต้องการให้ใครอุ้ม เวลาเจ็บปวดหรือมีความทุกข์ เด็กวิ่งหาใครให้ช่วยและปลอบโยน เป็นต้น

ทั้งนี้ เด็กที่มีความผูกพันทางอารมณ์ที่ดี จะมีอารมณ์แจ่มใส ร่าเริง กล้าคิด กล้าสำรวจ กล้าลงมือทำ มองโลกแง่ดี เชื่อฟังและร่วมมือกับกฎเกณฑ์ของผู้ใหญ่ จากวิจัยทางการแพทย์ พบว่า เด็กที่มีความผูกพันทางอารมณ์ที่ดี มักมีระดับสติปัญญาที่สูงกว่า และเมื่อต้องเผชิญสถานการณ์ใหม่ๆ จะปรับตัวได้ง่ายกว่าเด็กที่มีความผูกพันทางอารมณ์ที่ไม่มั่นคง นอกจากนี้ จากรายงานการศึกษาต่อเนื่องของสหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 52 ของเด็กที่ได้รับการดูแลในสถานสงเคราะห์และกว่า ร้อยละ 30 ของเด็กที่พ่อแม่ติดสารเสพติด ล้วนมีปัญหาความผูกพันทางอารมณ์ที่ไม่มั่นคง จำเป็นต้องได้รับความสนใจจากสังคมและครอบครัวในการป้องกันแก้ไข และเด็กที่ขาดความผูกพันทางอารมณ์ที่มั่นคง จะเสี่ยงก่ออาชญากรรมได้ถึง ร้อยละ 80

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า แนวทางสร้างความผูกพันทางอารมณ์ที่มั่นคงให้กับลูก ได้แก่ “กินอิ่มท้อง อบอุ่นใจ” ให้ลูกได้รับสารอาหารที่เพียงพอ รับประทานอาหารอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง หรือใช้อารมณ์กันในมื้ออาหาร “กอดหอมให้ สัมผัสรัก” ลูบศีรษะ อุ้ม โอบกอด หอมแก้ม หอมหน้าผาก สบตา ดูแล เอาใจใส่ ตอบสนองความต้องการของลูกแต่ละช่วงวัยอย่างพอเหมาะและต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงขวบปีแรก “เล่นเสริมสายใยรัก” เล่นร่วมกันกับลูก ที่สอดคล้องกับความสนใจและพัฒนาการตามช่วงวัย อย่างน้อย 15 - 30 นาทีต่อวัน “ฟูมฟักเล่า เคล้านิทาน” บอกรักลูก สังเกต/สอบถามอารมณ์และความรู้สึก เล่า/อ่านนิทานร่วมกัน ที่สำคัญ ในช่วง 6 เดือนแรก ไม่ควรเปลี่ยนคนเลี้ยงบ่อย ควรมีคนเลี้ยงหลักเพียงคนเดียว ระมัดระวังการใช้อารมณ์เกรี้ยวกราดและความก้าวร้าว แต่ต้องมีความหนักแน่น โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ลูกทำผิด ไม่เชื่อฟัง ดื้อ หรือต่อต้าน ไม่ใช้การตี การดุ ตวาดเสียงดัง หรือใช้คำพูดรุนแรงอย่างไร้เหตุผล และรู้จักเลือกใช้วิธีลงโทษและการสร้างวินัยทางบวกเข้าทดแทน

“ได้มอบหมายสถาบันราชานุกูลให้พัฒนาเครื่องมือประเมินความผูกพันทางอารมณ์ในเด็กและแนวทางการเลี้ยงดูที่ส่งเสริมความผูกพันทางอารมณ์สนับสนุน รพช. ใน 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ ตลอดจนขอเชิญชวนพ่อแม่ ผู้ปกครอง ส่งผลงานครอบครัวเข้าร่วมการประกวดภาพถ่ายและคลิปวิดีโอครอบครัว ภายใต้แนวคิด “สานความผูกพัน สร้างเด็กไทยให้แข็งแรง” ตั้งแต่วันนี้ - 1 มีนาคม 2560 ติดต่อและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.rajanukul.go.th , Facebook Fanpage : SUKSANGDAI” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันพบว่าประเทศไทยมียุวอาชญากรจำนวนมากขึ้น โดยสังเกตได้จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อสารมวลชนมีเด็กที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมากขึ้น ความถี่มากขึ้น อายุน้อยลงเรื่อยๆ ในขณะที่ลักษณะความรุนแรงกลับเพิ่มมากขึ้น เหมือนอย่างเคสน้องมะปิน (นายวศิน เหลืองแจ่ม เหยื่อถูกฆาตรกรรมชิงโทรศัพท์มือถือ) โดยผู้กระทำก็เป็นยุวอาชญากรมาก่อนเช่นเดียวกัน และจากการที่ได้รับฟังการให้สัมภาษณ์ของทางครอบครัวทราบว่าผู้ปกครองเองก็รักในตัวผู้ก่อเหตุมาก ซึ่งการรักลูกเป็นเรื่องที่ดี แต่การรักที่ถูกต้องไม่ใช่การตามใจ หรือคล้อยตามที่เด็กทำทั้งหมด แต่ควรให้ความรู้ สอนและให้ความมั่นใจว่าสามารถเลือกทางเดินอื่นๆ ที่ถูกต้องได้อย่างไร ดังนั้นถ้าสร้างความมั่นคงทางจิตใจซึ่งเป็นจริยธรรมพื้นฐานในเรื่องของการได้รับความรัก และการรู้จักรักตอบ ซึ่งจะช่วยป้องกันยุวอาชญากรได้ และการที่เด็กไม่ทำในสิ่งที่ผิดนั้นไม่ใช่เพราะกลัวการลงโทษแต่เป็นเพราะรู้ว่าคือสิ่งที่ไม่ถูกต้อง รู้จักเห็นใจคนอื่น
กำลังโหลดความคิดเห็น