xs
xsm
sm
md
lg

รพ.แม่แตง ต้นแบบค้นหาบำบัดผู้เสพฝิ่น-เฮโรอีน ด้วยยาเมทาโดน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ชู รพ.แม่แตง ต้นแบบนำผู้เสพติดฝิ่น เฮโรอีน เข้าบำบัดด้วยยาเมทาโดน ช่วยค้นหาผู้เสพเข้ารับบำบัดได้ต่อเนื่อง สปสช. เผย ระดับประเทศมีผู้รับการบำบัดด้วยยาเมทาโดนระยะยาวสะสมเกือบหมื่นราย ช่วยหนุนเสริมประเทศแก้ไขปัญหายาเสพติด

วันนี้ (12 ม.ค.) นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการใช้ “เมทาโดน” บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด (Methadone Maintenance Treatment: MMT) ว่า เมทาโดนเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่งที่สังเคราะห์จากฝิ่น เป็นสารทดแทนที่การแพทย์ยอมรับเพื่อบำบัดรักษาผู้ใช้เฮโรอีน ซึ่งสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติครอบคลุมการบำบัดยาเสพติดด้วยยาเมทาโดนระยะยาวนี้ เพื่อมุ่งลดอันตรายจากการเสพยาโดยใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ทั้งการติดเชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี และไว้รัสตับอักเสบซี เป็นต้น และต่อมาในปี 2551 จึงขยายให้สิทธิประโยชน์การบำบัดยาเมทาโดนระยะยาวครอบคลุมการดูแลผู้ป่วยนอกในกลุ่มผู้ป่วยติดสารเสพติดในกลุ่มฝิ่น (โอปิออยด์) และอนุพันธ์ของฝิ่นที่สมัครใจ โดยร่วมกับสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดบรมราชชนนี (สถาบันธัญญารักษ์) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

“ทั้งนี้ ยาเมทาโดน จัดเป็นยาเสพติดประเภท 2 ต้องมีการควบคุมพิเศษ เนื่องจากเสพติดได้และเป็นอันตรายแก่ผู้รับบริการถึงชีวิต ผู้ให้บริการจึงต้องมีความรู้ ความเข้าใจวิธีรักษาตามหลักการทางการแพทย์ที่ถูกต้อง ขณะที่หน่วยบริการที่จะมีสิทธิเบิกจ่ายยาเมทาโดนได้ ต้องผ่านการขออนุญาตขึ้นทะเบียนเป็นสถานพยาบาล พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2552 และต้องมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด คือ 1. ต้องเป็นหน่วยบริการที่ให้การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดครบ 4 ขั้นตอน ทั้งการเตรียมการ การถอนพิษยา การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการติดตาม 2. แพทย์ผู้ทำการบำบัดรักษาจะต้องผ่านการอบรม หรือมีประสบการณ์รักษาผู้เสพติดเฮโรอีนไม่น้อยกว่า 1 ปี และ 3. หน่วยบริการจะต้องจัดทำทะเบียนผู้เข้ารับการบำบัดรักษาที่เข้าร่วมโครงการ และรายงานความคืบหน้าในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เข้ารับการบำบัดต่อกรมการแพทย์ รวมทั้งรายงานการใช้ยาเมทาโดนต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยมีสำเนาเก็บไว้ที่หน่วยบริการ พร้อมให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้” นพ.ชูชัย กล่าว

นพ.ชูชัย กล่าวว่า สำหรับข้อมูลการเบิกชดเชยการจ่ายยาเมทาโดย สปสช. ปี 2558 มีผู้ติดยาเสพติดในกลุ่มฝิ่นและอนุพันธ์ของฝิ่นที่สมัครใจที่รับการรักษาโดยใช้ยาเมทาโดนทดแทน ทั้งกลุ่มผู้ป่วยใหม่และผู้ป่วยเก่าที่รับยาต่อเนื่อง 5,458 คน ขณะที่ข้อมูลตั้งแต่ปี 2556 - 2558 มีผู้ติดยาเสพติดในกลุ่มฝิ่นฯ ที่สมัครใจเข้าสู่กระบวนการรักษาโดยใช้ยาเมทาโนทดแทนสะสม 7,428 คน เฉลี่ยเป็นผู้ป่วยรายใหม่ปีละ 2,400 คน คิดเป็นมูลค่าการชดเชยค่ายาเมทาโดนสะสม 43,778,823 บาท หรือเฉลี่ยปีละประมาณ 14 ล้านบาท ทั้งนี้ หากรวมผู้รับการบำบัดในปี 2559 (ข้อมูล ณ ก.ค. 59) มีผู้รับการบำบัดโดยใช้ยาเมทาโดนสะสม 9,573 รายแล้ว นับเป็นมาตรการหนึ่งในการช่วยสนับสนุนเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศ

ด้าน นพ.ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า รพ.แม่แตง เป็นหนึ่งในหน่วยบริการที่ให้การบำบัดยาเมทาโดนระยะยาว มุ่งรักษาผู้ป่วยติดสารเสพติดกลุ่มโอปิออยด์ เนื่องจากเป็นพื้นที่มีการปลูกฝิ่น จึงได้รับมอบให้เข้าร่วมโครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืนระยะที่ 2 โดยระยะแรกเป็นเพียงการเน้นค้นหาผู้เสพฝิ่นและเฮโรอีนที่ถือเป็นผู้ป่วยเพื่อนำเข้าสู่การบำบัดด้วยการนำผู้ป่วยมาอยู่รวมกัน เพื่อปรับขนาดยาเมทาโดนให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละรายและตรวจสุขภาพดูแลโรคร่วมอื่นๆ ด้วย หลังจากนั้น จะนัดผู้ป่วยมารับยาอย่างต่อเนื่อง พบว่าผู้ป่วยจะไม่มารับยาและขาดการติดตามต่อเนื่อง หวนกลับไปเสพซ้ำ เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร และยังขาดกระบวนการบำบัดที่เหมาะสมกับพื้นที่ จึงได้มีการปรับการบำบัดยาเสพติดตามรูปแบบ ทางสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ และทีมผู้บำบัดของโรงพยาบาลแม่แตง จึงได้นำแนวทางศูนย์ลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดในชุมชน (Drop in center) มาปรับใช้ โดยมีแนวทางการให้ยาเมทาโดนระยะยาวร่วมด้วย ซึ่งที่ผ่านมา รพ.แม่แตง ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง และมี รพ.สต.แม่ตะมาน และ รพ.สต.บ้านต้นลุง ร่วมเป็นเครือข่ายบริการ

“จากแนวทางดังกล่าวไม่เพียงแต่ทำให้มีผู้เสพยาเสพติดได้รับการบำบัดเพิ่มขึ้น แต่ยังส่งผลให้ผู้มีจำนวนผู้เสพที่เลิกใช้สารเสพติดโอปิออยด์ด้วยการทดแทนยาเมทาโดนเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งจากการดำเนินการในปี 2557 มีผู้เข้ารับการบำบัด 57 ราย ในปี 2558 เพิ่มเป็นจำนวน 81 ราย และในปี 2559 เพิ่มเป็นจำนวน 118 ราย ขณะที่จำนวนผู้ที่หยุดใช้สารเสพติดโอปิออยด์ ปี 2558 มีจำนวน 10 ราย และในปี 2559 เพิ่มเป็น 38 ราย อย่างไรก็ตาม พื้นที่ อ.แม่แตง ยังมีปัญหาการเข้าถึงกระบวนการบำบัดยาเสพติดค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มชาวไทยภูเขา ดังนั้น จำเป็นต้องมีการปรับรูปแบบบริการบำบัดที่เหมาะสม ซึ่งการบำบัดด้วยยาเมทาโดนระยะยาวถือเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายการแก้ไขปัญหายาเสพติด ในการนำผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัดและคืนสู่สังคมได้” รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น