xs
xsm
sm
md
lg

คอบช.จี้ รบ.ตั้ง “องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค” เผยปี 59 รับเรื่องร้องเรียนด้านสุขภาพสูงสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คอบช. จี้รัฐบาลเร่งตั้ง “องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค” เผย ผลดำเนินการ 3 ปี ช่วยคุ้มครองผู้บริโภคได้มากหลายเรื่อง เผย ปี 2559 มูลนิธิผู้บริโภครับเรื่องร้องเรียน 3,622 เรื่อง เป็นเรื่องบริการสุขภาพและสาธารณสุขมากที่สุด ตามด้วยปัญหาด้านการเงินธานคาร บริการสาธารณะ สื่อและโทรคมนาคม

วันนี้ (11 ม.ค.) ผศ.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองประธานกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) กล่าวว่า จากการดำเนินงานของ คอบช. ใน 3 ปีที่ผ่านมา ช่วยให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองมากขึ้น เช่น กรณีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ การเปลี่ยนบัตรโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน ช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดเงินไม่น้อยกว่า 700 ล้านบาท การควบคุมราคาจำหน่ายก๊าซหุงต้มทั่วประเทศ การเสนอให้มีกฎหมายคุ้มครองสินค้าใหม่ที่ชำรุดบกพร่อง และความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนในการควบคุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย จึงเสนอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการจัดตั้งองค์กรผู้บริโภคที่เป็นอิสระ เพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค รวมทั้งเป็นตัวแทนของผู้บริโภคในการประสานนโยบายและดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานรัฐและภาคเอกชน

“นอกจากนี้ คาดหวังว่า ในปี 2560 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะเดินหน้ายกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค ให้มีฉลากจีเอ็มโอครอบคลุมอาหารที่มีจีเอ็มโอทุกชนิด รวมถึง กสทช. จะสามารถบังคับให้ค่ายมือถือ คิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย ตามที่ได้มีมติ กทค. เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2559 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภคมากกว่า 18,032 ล้านบาท ใน 7 เดือน” ผศ.จุมพล กล่าว

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ในปี 2559 ที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนรวมทั้งสิ้น 3,622 เรื่อง เป็นปัญหาด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุขจำนวน 680 เรื่อง ปัญหาด้านการเงินการธนาคาร 626 เรื่อง ปัญหาด้านบริการสาธารณะ 553 เรื่อง ปัญหาด้านสื่อและโทรคมนาคม 541 เรื่อง ปัญหาด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ 450 เรื่อง สินค้าและบริการทั่วไป 372 เรื่อง และปัญหาที่อยู่ที่อาศัยจำนวน 138 เรื่องตามลำดับ

นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ กรรมการ คอบช. เขตภาคอีสาน กล่าวว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ ปี 2559 ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ พบว่า อุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะทุกประเภทมีเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะรถตู้โดยสารสาธารณะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด โดยเกิดอุบัติเหตุมากถึง 215 ครั้ง หรือ 19.5 ครั้ง/เดือน บาดเจ็บ 1,102 คน หรือ 100 คน/เดือน มีผู้เสียชีวิต 103 คน หรือ 9.4 คน/เดือน ขอเสนอให้รัฐบาลมีการควบคุมความเร็วในการขับขี่รถโดยสารสาธารณะ มีสัญญาณเตือนเมื่อความเร็วสูงกว่ากฎหมายกำหนด เพื่อให้ผู้ขับขี่และผู้บริโภคระมัดระวังร่วมกัน และเข้มงวดกับการตรวจสภาพรถโดยสารมากยิ่งขึ้น หากมีกรณีอุบัติเหตุซ้ำซาก ควรมีมาตรการพักใบอนุญาตการเดินรถของผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อความปลอดภัยทางถนนและการลดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ

นายพงษภัทร หงส์สุขสวัสดิ์ ผู้ประสานงานภาคตะวันตก กล่าวว่า ปีนี้เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจะเน้นการเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายในสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นสื่อใหม่ในยุคดิจิตอล ที่ยังไม่มีหน่วยงานใดออกมาเป็นเจ้าภาพกำกับดูแล ส่วนการโฆษณาในสื่อเก่าพบเป็นปัญหาคอขวดในการบังคับใช้กฎหมาย จึงเสนอต่อ อย. ให้มีฐานข้อมูลกลางที่ทุกส่วนสามารถเข้าถึง และตรวจสอบได้ แสดงข้อมูลโฆษณาที่อนุญาต และให้ อย. ใช้แนวทางกระจายอำนาจให้หน่วยงานกำกับดูแลอื่น แก้ไขปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมถึงให้ อย. ปรับปรุงแนวปฏิบัติในการลงโทษ โดยพิจารณาความผิดฐานโฆษณาเกินจริงเป็นเท็จ แทนที่จะลงโทษเพียงฐานไม่ขออนุญาตโฆษณา รวมถึงการกระทำผิดซ้ำซาก




กำลังโหลดความคิดเห็น