กรมอนามัยตั้งเป้าเพิ่มความสูง รูปร่างสมส่วน “เด็กวัยเรียน” ชี้ ปี 2579 เพศชายสูงเฉลี่ย 163 ซม. เพศหญิง 164 ซม. เผยดื่มนมคู่อาหารครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายแบบมีแรงกระแทก นอนหลับสนิท 8 - 10 ชั่วโมง ช่วยเพิ่มความสูงได้ เล็งเพิ่มการดื่มนมเด็กเป็นวันละ 2 แก้ว
วันนี้ (11 ม.ค.) นพ.ณัฐพร วงษ์ศุทธิภากร รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังเปิดงานประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการส่งเสริมเด็กไทยยุคใหม่เติบโตสมวัย สูงดีสมส่วน ไม่อ้วนผอมเตี้ย ว่า กรมฯ ตั้งเป้าหมายการส่งเสริมสุขภาพเด็กวัยเรียน อายุ 6 - 14 ปี ให้แข็งแรง ฉลาด สูงดีสมส่วน ไว้ 3 ระยะ คือ ปี 2560 เด็กวัยเรียนสูงดี สมส่วน ร้อยละ 66 ปี 2564 เด็กอายุ 12 ปี เพศชายมีส่วนสูงเฉลี่ย 154 เซนติเมตร เพศหญิง 155 เซนติเมตร และปี 2579 เพศชายมีส่วนสูงเฉลี่ย 163 เซนติเมตร และเพศหญิง 164 เซนติเมตร ซึ่งช่วงเวลาทองของเด็กในการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงจะแตกต่างกัน โดยเด็กผู้หญิงจะเริ่มในช่วงอายุ 9 - 10 ปี ความสูงจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึงอายุประมาณ 12 ปี จากนั้นอัตราการเพิ่มของความสูงจะลดลงจนกระทั่งถึงอายุประมาณ 16 - 18 ปี ความสูงจะค่อนข้างคงที่ ส่วนเด็กชายจะเริ่มในช่วงอายุ 10 - 12 ปี ความสูงจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึงอายุประมาณ 14 ปี จากนั้นอัตราการเพิ่มของความสูงจะลดลงจนกระทั่งถึงอายุประมาณ 18 - 20 ปี ความสูงจะค่อนข้างคงที่
นพ.ณัฐพร กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสูง ได้แก่ การเจริญเติบโตของกระดูก โดยเฉพาะกระดูกกลุ่ม long bone และการปิดของบริเวณ growth plate การที่เด็กมีการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะกระตุ้นให้มีการหลั่งของ growth hormone และ growth factor รวมทั้งการกระตุ้นโดยตรงต่อกระดูก ทำให้เพิ่มการสร้างกระดูกมากขึ้น ดังนั้น จึงต้องส่งเสริมให้เด็กวัยเรียนดื่มนมจืด 2 แก้วทุกวัน ร่วมกับการกินอาหารในปริมาณที่เหมาะสมกับวัย ครบ 5 หมู่ เลือกประเภทที่มีแคลเซียมสูง เช่น ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งแห้ง เต้าหู้แข็งผักสีเขียวเข้ม เช่น คะน้า ตำลึง ผักกาดเขียว หมั่นออกกำลังกายชนิดที่มีแรงกระแทกของข้อ เช่น กระโดดเชือก กระโดดยาง กระโดดตบ เล่นบาสเกตบอล โดยทำต่อเนื่องไม่น้อยกว่าครั้งละ 10 - 15 นาที ทุกวันๆ ละ 60 นาที หรือทำแบบสะสมเวลา ร่วมกับการนอนหลับสนิทอย่างน้อยวันละ 8 - 10 ชั่วโมง ลดปัจจัยเอื้อที่เป็นอุปสรรคต่อการนอนหลับ เช่น ไม่เล่นเกมก่อนนอน ไม่วางโทรศัพท์ไว้บนที่นอน หรือไม่เปิดทีวีทิ้งไว้ในห้องนอน เพื่อให้นอนหลับสนิท ซึ่งจะส่งผลต่อการหลั่งฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Growth hormone) ที่สำคัญต่อการเจริญเติบโต การเพิ่มความสูง และควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ให้เป็นไปอย่างปกติ
“การศึกษาวิจัยในต่างประเทศหลายแหล่ง พบว่า การดื่มนมมีความสัมพันธ์กับความสูงของเด็ก และล่าสุด ในปี 2555 สถาบันประวัติศาสตร์สังคมนานาชาติ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ศึกษาวิจัยเรื่องการดื่มนมที่มีผลต่อความสูงของเด็กวัยเรียนใน 7 ประเทศ พบว่า การดื่มนมวันละ 245 มิลลิลิตร ร่วมกับการกินอาหารในปริมาณที่เหมาะสมกับวัย ทำให้ส่วนสูงเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 0.4 เซนติเมตรต่อปี อย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี 2560 กรมฯ ได้รณรงค์ให้เด็กวัยเรียนดื่มนมจืดให้ได้วันละ 400 มิลลิลิตร หรือ 2 แก้วทุกวัน โดยดื่มที่โรงเรียน 1 แก้ว ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้สนับสนุนให้กับเด็กวัยเรียนในวันเปิดเรียนและปิดภาคเรียน จำนวน 260 ถุง หรือกล่อง และอีก 1 แก้ว ต้องขอความร่วมมือจากผู้ปกครองจัดให้เด็กดื่มนมเพิ่มเติมที่บ้าน ซึ่งครอบครัว โรงเรียน ชุมชน เป็นส่วนสำคัญที่จะต้องช่วยกันส่งเสริมให้เด็กวัยเรียนเจริญเติบโตสมวัย สูงดีสมส่วน ไม่อ้วน ผอม เตี้ย โดยการจัดอาหารให้เหมาะสม จัดหานมจืดไว้ในบ้านให้มีดื่มอย่างสม่ำเสมอ สนับสนุนอุปกรณ์และสถานที่เหมาะสม ปลอดภัย สำหรับออกกำลังกาย และมีครูให้คำแนะนำอย่างถูกต้อง จัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม เช่น สหกรณ์ ร้านค้า ควรจัดจำหน่ายเฉพาะนมรสจืดเท่านั้น” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว