ความเดือดร้อนของผู้ประสบอุทกภัยที่ภาคใต้ในครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก ภาพที่สื่อทุกแขนงนำเสนอถึงเหตุการณ์ของความเสียหาย อดใจหายไม่ได้ และน่าเห็นใจเป็นยิ่งนัก จนถึงขณะนี้น้ำท่วมได้ขยายวงกว้างไปในหลายพื้นที่ และยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ขณะที่ฝนก็ยังคงตกอย่างต่อเนื่อง มีความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
นึกถึงเรื่องอุกทกภัยในบ้านเรา นี่ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เป็นปัญหาที่พบได้ในทุกปี เพียงแต่ครั้งนี้รุนแรงมาก และมาเร็วเหลือเกิน และมาตั้งแต่ต้นปี ยังจำได้ดีถึงเมื่อครั้งที่ กทม. ก็เคยเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อราวปี 2554 รู้ดีว่าทุกข์หนักหนาสาหัสอย่างไร จึงเข้าใจและเห็นภาพของบรรดาพี่น้องชาวใต้ที่กำลังประสบเหตุอยู่ในขณะนี้
แน่นอนว่า เรื่องอย่างนี้คนไทยไม่เคยทอดทิ้งกันจริงๆ ภาพความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วนถูกส่งไปช่วยเหลือไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เป็นความปลาบปลื้มที่ได้เห็นความช่วยเหลือที่ถูกลำเลียงไปทุกช่องทาง สื่อแทบทุกแขนงก็ขันอาสาเป็นสื่อกลางประสานความช่วยเหลือจากประชาชนอย่างน่าชื่นใจยิ่ง
แต่นอกเหนือจากความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วนและกำลังใจที่ส่งไปถึงคนที่กำลังประสบเหตุ ก็น่าจะถือโอกาสอันดีในการส่งเสริมกิจกรรม “จิตอาสา” ให้เกิดขึ้นในวันเด็กแห่งชาติที่จะมาถึง
อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันเสาร์ที่สองเดือนมกราคมของทุกปี ตรงกับวันเด็กแห่งชาติ
โดยปกติเด็กๆ จะได้รับคำขวัญวันเด็กจากนายกรัฐมนตรี เป็นประจำทุกปี ไฮไลต์เด็ด ก็คือ การเปิดให้เด็กได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล และมีการเปิดสถานที่สำคัญให้เด็กๆ ได้เข้าไปเยี่ยมชมใกล้ชิดเป็นพิเศษ รวมทั้งการชมอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ซึ่งก็นับเป็นเรื่องดีที่ทำให้เด็กๆ ได้มีโอกาสสัมผัสของจริง และมีประสบการณ์เรียนรู้ในหลากหลายสถานที่
น่าจะถือโอกาสวันเด็กในปีนี้เปลี่ยนโหมดเป็นวันเด็ก “จิตอาสา” ดีไหม ?
กิจกรรมวันเด็กส่วนใหญ่จะจัดในสถานที่สำคัญๆ มีการจัดกิจกรรมพิเศษ เพื่อดึงดูดให้พ่อแม่พาเด็กๆ ไปร่วมกิจกรรมวันเด็กของหน่วยงาน หรือองค์กรของตน จึงมีการประชาสัมพันธ์โปรโมตกันสุดฤทธิ์
ในขณะที่คนเป็นพ่อแม่ก็ตั้งใจอยู่แล้วที่อยากพาลูกเที่ยวงานวันเด็ก ก็ต้องพยายามคัดสรรว่าจะพาลูกไปเที่ยวงานวันเด็กที่ไหนดี
แน่นอนทุกหน่วยงานต้องมีงบประมาณ ต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อยเพื่อจัดกิจกรรม แต่ลองคิดดูว่าท่ามกลางความเดือดร้อนของพี่น้องชาวใต้ ถ้าเราปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้เด็กได้เรียนรู้ร่วมกันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงที่ภาคใต้ล่ะจะดีกว่าไหม ?
ลองจินตนาการเปลี่ยนรูปแบบวันเด็กยุคปฏิรูป...ถ้าเป็น….
กิจกรรมที่แต่ละหน่วยงานองค์กรจัดขึ้นควรจะเชื่อมโยงจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ร่วมกัน มีเด็กจำนวนมากที่ไม่สามารถไปเที่ยววันเด็ก หรือมีโอกาสทำกิจกรรมวันเด็กได้ เพราะต้องประสบอุทกภัย ก็ถือโอกาสสอดแทรกเรื่องจิตอาสาให้กับเด็ก ออกแบบกิจกรรมให้เด็กสามารถช่วยเหลือเด็กได้ หรือให้เด็กได้แสดงความคิดเห็น หรือแสดงออกถึงวิธีคิดของพวกเขาต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จะเป็นบทเรียนที่สำคัญสำหรับเด็กอย่างมาก
ทั้งยังเป็นการปลูกฝังทางตรงให้เด็กไม่ดูดายต่อความทุกข์ยากลำบากของเพื่อนร่วมชาติ และให้เข้าใจว่าการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ เราต้องไม่ทำลายธรรมชาติ ส่วนหนึ่งของปัญหาในวันนี้ ก็เกิดจากน้ำมือของผู้ใหญ่ในรุ่นก่อนหน้านี้ด้วยเช่นกัน ฉะนั้น เขาควรจะดูแลทรัพยากรในรุ่นของเขาอย่างไร เพื่ออนาคตของรุ่นลูกหลานของเขาต่อไป
...ถ้าแนวทางการจัดกิจกรรมวันเด็กปีนี้ของภาครัฐเป็นไปในทิศทางนี้...จะดีไหม...
...รัฐยุคปฏิรูปและมีรูปแบบการเมืองพิเศษเช่นนี้...ย่อมทำได้
นอกจากรัฐจะทำเองแล้ว ยังควรถือโอกาสรณรงค์ส่งเสริมให้ครอบครัวนำเรื่องจิตอาสามาแบ่งปันกิจกรรมร่วมกัน ชวนลูกปลูกฝังและฝึกทักษะชีวิตจากสถานการณ์จริงได้ด้วย
แนวทางที่จะเสนอแนะให้ทุกครอบครับรณรงค์ก็อาทิเช่น
หนึ่ง - สอนให้ลูกคิดถึงผู้อื่น
พ่อแม่ลองเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ลูกฟัง ให้ดูจากภาพข่าวก็ได้ ชวนลูกพูดคุยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วลองตั้งคำถามโดยดูวัยของลูกด้วย แล้วถามว่าลูกรู้สึกอย่างไร
จากนั้นลองโยนคำถามต่อมา คือ แล้วเราจะสามารถช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนเหล่านี้ได้อย่างไร หรืออาจยกสถานการณ์ว่าถ้าน้ำท่วมบ้านของเรา จะทำอย่างไรกันดี ปล่อยให้ลูกได้ฝึกคิด แสดงความคิดเห็น และชวนลูกต่อยอดด้วยความคิด โดยการตั้งคำถามอย่างต่อเนื่อง และต้องไม่มีคำตอบผิดถูก เป็นการฝึกให้ลูกคิดหาทางแก้ปัญหาด้วยตนเอง โดยพ่อแม่อาจช่วยแนะนำว่าถ้าไม่ได้แบบนี้เป็นอีกแบบได้ไหม
สอง - เปลี่ยนจากผู้รับเป็นผู้ให้
สิ่งสำคัญอย่าฝึกให้ลูกคิดอย่างเดียว ต้องชวนลูกปฏิบัติจริง บอกลูกว่ามีช่องทางช่วยเหลือมากมาย เราจะช่วยเหลือคนอื่นด้วยวิธีใดได้บ้าง และชวนลูกลงมือทำ อาจจะหยิบยกเอาความช่วยเหลือใกล้ตัวกับเขาด้วยก็ได้ โดย การทำการ์ดส่งกำลังใจให้เด็กๆ ที่ได้รับผลกระทบด้วย เพื่อสอนให้เด็กได้รู้จักการ “ให้” เป็นการปลูกฝังเรื่องความมีน้ำใจ ความแบ่งปันให้กับผู้อื่น
หรือลองชวนลูกเปลี่ยนจากการที่ต้องให้ลูกไปรับของแจกตามสถานที่ต่างๆ ในวันเด็ก มาเป็นการให้เขาเลือกของเล่นที่มีอยู่สภาพดี แต่ไม่ค่อยได้เล่นแล้ว และนำไปให้เด็กที่ประสบอุทกภัยล่ะ คุณว่าลูกจะรู้สึกอย่างไร และเขาได้เรียนรู้อะไรบ้าง
สาม - ปลูกฝังเรื่องจิตอาสา
การให้ลูกได้เรียนรู้จักการเป็น “ผู้ให้” เป็นจุดเริ่มต้นของการฝึกเรื่องการมีจิตอาสา
ถ้าครอบครัวนำมาเป็นบทเรียนร่วมกันในครอบครัว เท่ากับเป็นการปลูกฝังเรื่องจิตอาสาให้กับลูกตั้งแต่เล็ก ที่สำคัญ ควรบอกเขาด้วยว่า แม้เงินจะน้อยนิด แต่เมื่อรวบรวมกันมีคนจำนวนมาก ก็จะทำให้มีเงินจำนวนมากขึ้น และสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้เช่นกัน ทำให้เขาเรียนรู้ว่าจำนวนเงินยังไม่สำคัญเท่ากับจิตใจที่คิดจะ “ให้”
สอนให้ลูกรู้จักการให้ การมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รวมไปถึงการสอนให้รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่นจากข่าวผู้ประสบอุทกภัยสถานการณ์จริง อาจจะชี้ให้เห็นถึงผู้คนที่อาสาสมัครไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย เขาช่วยเหลือผู้อื่นชนิดที่ไม่หวังผลตอบแทน พ่อแม่ควรจะยกย่องคนเหล่านั้นให้ลูกฟังอย่างสม่ำเสมอ และอาจจะชักชวนให้ลูกร่วมเป็นอาสาสมัครด้วยก็ได้
ยิ่งยุคนี้เด็กๆ เติบโตขึ้นไปท่ามกลางการมีตัวเองเป็นศูนย์กลางมากเท่าไร ผู้ใหญ่ยุคนี้ต้องหันกลับมาให้ความสำคัญและใส่ใจกับเรื่องการส่งเสริมให้ เด็กมีจิตอาสามากขึ้นเรื่อยๆ
เขาจะรู้สึกว่าตัวเองเกิดความภูมิใจ เกิดความรู้สึกดีกับตัวเอง มีความสุขที่ได้เรียนรู้จักการให้ผู้อื่น และเขายังได้เกิดความภาคภูมิใจว่าเขาเป็นเด็กที่มีความสามารถ มีศักยภาพ หรือมีคุณค่า
สี่ - เรียนรู้ที่จะเข้าใจธรรมชาติ
ถือโอกาสเรียนรู้ร่วมกันในครอบครัว โดยการพูดคุยกันถึงสาเหตุของการเกิดภัยธรรมชาติครั้งนี้ว่าน่าจะเกิดจากอะไรบ้าง ต้นไม้เกี่ยวข้องไหม การรุกล้ำพื้นที่ป่าเกี่ยวข้องไหม มีอะไรบ้างที่ทำให้น้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากมากมายอย่างนี้ ถามคำถาม และให้ลูกมีส่วนร่วมด้วย เป็นการฝึกให้เขาได้เรียนรู้ว่าทุกเหตุการณ์มันมีที่มาที่ไป และมีเหตุผลที่สัมพันธ์กันอยู่เสมอ
ควรสอนให้ลูกคิดต่อเนื่องด้วยว่า หลังจากภาวะน้ำท่วมเข้าสู่ภาวะปกติ จะเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาได้บ้าง ความเดือดร้อนจากข้าวของเสียหาย ความเดือดร้อนจากที่ดินทำกิน ฯลฯ รวมไปถึงสภาวะจิตใจของผู้คนจะหนักหนาเพียงใด เพื่อให้เขาได้มองเห็นว่าในปัญหาหนึ่งปัญหา มันส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง แม้เหตุการณ์ต่างๆ จะได้รับการแก้ไขและเยียวยาไปบ้างแล้ว แต่ปัญหาและผลกระทบยังคงอยู่ เป็นการฝึกให้เด็กมองปัญหาให้รอบและมองให้ไกล ไม่มองเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น
นี่อาจจะไม่ใช่วิถีที่ดีที่สุดสำหรับการจัดกิจกรรมวันเด็ก แต่ก็ขอเสนอมาเพื่อจุดประกายความคิดให้ผู้รับผิดชอบภาครัฐนำไปต่อยอด ปฏิรูปกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติให้เข้ากับยุคสมัยกับเหตุการณ์ปัจจุบัน
หากทำได้ทั้งเด็กและผู้ปกครองเด็กก็จะรับรู้ได้ว่านี่คือรัฐบาลที่กำลังเริ่มต้นปฏิรูปรากฐานของประเทศอย่างแท้จริง