กรมการแพทย์ส่งทีมแพทย์สนามฉุกเฉิน หน่วยปฐมพยาบาล ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม ด้าน สบส. ระดมทีมวิศวกรกู้ระบบไฟฟ้า ประปา เครื่องมือแพทย์ รพ.บางสะพาน
นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ในหลายจังหวัด กรมฯ ได้ส่งทีมแพทย์สนามฉุกเฉินระดับตติยภูมิ (Medical Emergency Response Team: MERT) และทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์เคลื่อนที่เร็วระดับอำเภอ (MiniMERT) พร้อมทั้งหน่วยปฐมพยาบาลลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ โดยทีม MERT ดังกล่าว ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ ได้แก่ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลมะเร็งสุราษฎร์ธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา โรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี ทำงานร่วมกับแพทย์ในพื้นที่ปฏิบัติงานหมุนเวียนช่วยเหลือประชาชนในเขตจังหวัดภาคใต้ที่ได้รับความเดือดร้อน โดยพร้อมเดินทางถึงพื้นที่ประสบอุทกภัยอย่างรวดเร็ว เพื่อทำการคัดแยก ดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในขั้นต้นให้ปลอดภัย ก่อนส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาลในพื้นที่ ทีมแพทย์ดังกล่าวมีความเชี่ยวชาญทำงานเป็นทีมร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ภายใต้ระบบสั่งการในภาวะฉุกเฉิน
“กรมการแพทย์ได้พัฒนาชุดปฏิบัติการแพทย์สนามฉุกเฉินตามมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นชุดปฏิบัติการที่มีศักยภาพความพร้อมสูง คล่องตัว ทั้งด้านบุคลากร เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ สามารถออกเดินทางไปปฏิบัติภารกิจ เมื่อได้รับการร้องขอจากพื้นที่ประสบภัยหรือการสั่งการจากผู้บังคับบัญชาภายใน 6-12 ชั่วโมง ชุด MERT 1 ชุด จะประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์ 16 คน คือ แพทย์ 1 คน พยาบาลฉุกเฉิน 4 คน เจ้าหน้าที่กู้ชีพ หรือเวชกรฉุกเฉิน 6 คน เภสัชกร 1 คน ที่เหลือเป็นเจ้าหน้าที่สนับสนุนอื่นๆ และรถพยาบาล ดังนั้น ทีมแพทย์ฉุกเฉินของกรมการแพทย์จึงมีความพร้อมทั้งทางด้านบุคลากรและเวชภัณฑ์ในการลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย พร้อมส่งต่อผู้ป่วยไปดูแลรักษาที่โรงพยาบาลได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย ทั้งนี้ หากประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถโทรสายด่วน 1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว
นพ.ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า สถานพยาบาลที่ต้องเร่งฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน คือ รพ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จากการส่งทีมวิศวกรเข้าไปประเมินความเสียหาย พบว่า ระบบสนับสนุนหลักของโรงพยาบาลได้รับผลกระทบ ได้แก่ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า แผงควบคุมระบบไฟฟ้าทั้งหมดของโรงพยาบาล ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบออกซิเจนส่งทางท่อไปยังอาคารผู้ป่วย ระบบประปาบาดาล เครื่องมือแพทย์ เช่น เครื่องเอกซเรย์ เป็นต้น จึงได้ระดมทีมวิศวกรเชี่ยวชาญสาขาไฟฟ้า เครื่องยนต์ ประปา วิศวกรโยธา รวม 20 คน เข้าฟื้นฟูกอบกู้ส่วนที่เป็นหัวใจหลักของโรงพยาบาล 3 ระบบอย่างเร่งด่วน ได้แก่ 1. ระบบไฟฟ้า 2. ระบบประปา และ 3. เครื่องมือแพทย์ ซึ่งต้องใช้การทำงานที่รวดเร็ว เพื่อให้สามารถกลับมาใช้การได้โดยเร็วที่สุด ส่วนที่เหลือจะเร่งดำเนินการฟื้นฟูให้แล้วเสร็จภายใน 1 - 2 วัน ขณะเดียวกัน ยังส่งทีมวิศวกรสำรวจสถานพยาบาลอื่นๆ ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ด้วย เพื่อฟื้นฟูเครื่องมือแพทย์ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม โดยเฉพาะยูนิตทำฟัน ซึ่งส่วนใหญ่มักตั้งในอาคารบริการชั้นล่าง
“สำหรับในส่วนของพื้นที่อื่นๆ เช่น นครศรีธรรมราช ชุมพร พัทลุง ได้ส่งทีมวิศวกรโยธาเข้าไปดำเนินการสำรวจสถานพยาบาล ซึ่งจะมีการดำเนินงานมี 2 ระยะ คือ ระยะเฉียบพลันซึ่งจะมีการดำเนินการโดยทันทีเพื่อดูแลความปลอดภัยของอาคารบริการ ส่วนในระยะที่ 2 คือ การประเมินความเสียหายเพื่อฟื้นฟูสถานพยาบาลให้มีความมั่นคงถาวรและปลอดภัยจากน้ำท่วมต่อไป” รองอธิบดี สบส. กล่าว