xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตน้ำท่วม เหลือ “รพ.บางสะพาน” แห่งเดียว ยังต้องปิดบริการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปลัด สธ. เผย วิกฤตน้ำท่วม เหลือ รพ.บางสะพาน แห่งเดียวที่ต้องปิดให้บริการ ส่งต่อผู้ป่วย 52 ราย เรียบร้อยแล้ว เร่งระดมทีมแพทย์อีก 30 - 40 ทีม เข้าพื้นที่ช่วยดูแลประชาชน เร่ง อภ. ผลิตยาชุดน้ำท่วมส่งช่วยเหลือ พร้อมเตรียมเปิดรับบริจาคช่วยเหลือบุคลากรสาธารณสุขที่ประสบภัย กำชับพื้นที่ประเมินความเสียหาย เล็งใช้งบภัยพิบัติ 10 ล้านบาท ช่วยเรื่องเวชภัณฑืการและฟื้นฟู รพ.

วันนี้ (10 ม.ค.) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) พื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วม เพื่อติดตามสถานการณ์และการช่วยเหลือ ว่า ขณะนี้มีสถานพยาบาลที่ต้องปิดให้บริการเพียงแห่งเดียวคือ รพ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเมื่อคืนวันที่ 9 ม.ค. ที่ผ่านมา ระดับน้ำท่วมสูงถึง 2 เมตร บริเวณด้านหลังหอพักบุคลากรสาธารณสุข ขณะที่อาคารผู้ป่วยนอกสูงเมตรกว่า อาคาร 6 ชั้น (ชั้น 1 ที่มีลิฟต์) น้ำเข้ามา 30 เซนติเมตร ทุกจุดน้ำท่วมมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา แต่เมื่อเวลา 8.00 น. วันที่ 10 ม.ค. ระดับน้ำลดลงเหลือ 50 เซนติเมตร ในตึกโรงพยาบาล

“รพ.บางสะพาน มีผู้ป่วยจำนวน 52 ราย โดยเมื่อคืนวันที่ 9 ม.ค. ที่ผ่านมา มีการขนย้ายผู้ป่วยหนักจำนวน 6 ราย ไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียงที่น้ำไม่ท่วมแล้ว แบ่งเป็น รพ.ประจวบคีรีขันธ์ 4 ราย และ รพ.หัวหิน 2 ราย ส่วนผู้ป่วยทั่วไปจำนวน 8 ราย ส่งไปยัง รพ.ทับสะแก แล้ว ส่วนผู้ป่วยอีก 38 ราย ที่เหลือมีการส่งต่อเช่นกัน แต่ติดปัญหาเรื่องการเดินทาง จึงได้ประสานกองบิน 5 ทหารอากาศส่งรถยกสูงเข้ามารับผู้ป่วยทั้งหมดแล้วในวันที่ 10 ม.ค. ทั้งนี้ หากระดับน้ำลดลงจะเร่งส่งทีมวิศวกรเข้าไปช่วยฟื้นฟูเพื่อให้สามารถเปิดบริการได้เร็วที่สุด โดยระหว่างนี้ทีมแพทย์จาก รพ.บางสะพาน ไปตั้ง รพ.สนามที่ โรงเรียนบางสะพานวิทยา ส่วนโรงพยาบาลที่มีการปิดให้บริการไปก่อนหน้านั้น คือ รพ.หลังสวน จ.ชุมพร ขณะนี้สามารถเปิดให้บริการตามปกติได้แล้ว และสามารถออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ช่วยชาวบ้านได้” ปลัด สธ. กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับการดูแลผู้ประสบภัยน้ำท่วม ได้มีการจัดตั้งศูนย์อพยพและโรงพยาบาลสนาม เพื่อดูแลประชาชนแล้ว รวมถึงการออกตรวจเยี่ยมผู้ป่วยที่ติดอยู่ตามบ้านเรือน ซึ่งขณะนี้มีข้อมูลอยู่ว่าอยู่ที่ไหนบ้างก็จะดำเนินการติดตามเยี่ยมให้ครบ โดยจะระดมทีมแพทย์ พยาบาลอีกประมาณ 30 - 40 ทีมทั่วประเทศ ลงไปช่วยเหลือเพิ่ม รวมถึงทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากกรมการแพทย์และโรงเรียนแพทย์ที่จะลงไปสับเปลี่ยนทีมบุคลการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลใหญ่ในพื้นที่ เนื่องจากบุคลากรสาธารณสุขก็ประสบปัญหาน้ำท่วมบ้านและมีความเหนื่อยล้าในการดูแลประชาชนเช่นกัน ซึ่งการช่วยเหลือบุคลากรสาธารณสุขที่ประสบภัยน้ำท่วมนั้น สธ.มีเงินสวัสดิการประมาณ 1.6 ล้านบาท ก็จะนำไปช่วยเหลือผ่าน สสจ. และจะมีการเปิดบัญชีเพื่อรับการบริจาคจากบุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศเพื่อช่วยเหลือบุคลากรที่ประสบภัยน้ำท่วมด้วย

ผู้สื่อข่าวถามถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วม นพ.โสภณ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ให้แต่ละพื้นที่ทำการประเมินความเสียหายอยู่ และรายงานมายังส่วนกลางว่าต้องการความช่วยเหลือใดบ้าง เพื่อของบสนับสนุนต่อไป โดยจะขอนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในการนำงบภัยพิบัติ ที่มีอยู่ 10 ล้านบาท นำมาใช้ในเรื่องของเวชภัณฑ์และการฟื้นฟู

เมื่อถามถึงการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ลงไปช่วยเหลือ นพ.โสภณ กล่าวว่า จากการประเมินพบว่ายังต้องการยาชุดน้ำท่วมอีกประมาณ 1 แสนชุด เพื่อนำไปแจกชาวบ้านที่ประสบภัย ขณะนี้ได้เร่งให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผลิต เพื่อส่งไปช่วยเหลือให้เร็วที่สุด รวมถึงให้โรงพยาบาลในพื้นที่ที่สามารถผลิตยาเองได้ ช่วยผลิตยาเพื่อช่วยเหลือประชาชนด้วย นอกจากนี้ มีความต้องการในเรื่องของรองเท้าบูท คลอรีน สารส้ม และอาหาร ก็ได้ให้ส่วนกลาง ทั้งกรมควบคุมโรค กรมอนามัย และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระดมลงไปช่วยเหลือก่อน

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากระดับน้ำลดลงต้องระวังโรคภัยและระมัดระวังเรื่องการฟื้นฟูที่พักอาศัยอย่างไรบ้าง นพ.โสภณ กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องโรคติดต่อยังไม่มีปัญหา แต่ที่ต้องระวังคือโรคตาแดง อุจจาระร่วง และโรคฉี่หนู โดยย้ำในเรื่องของความสะอาด กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ นอกจากนี้ ยังต้องระวังโรคที่มากับยุงด้วย เนื่องจากยุงจะมีจำนวนมากขึ้นหลังน้ำลดลง ก็ขอให้ป้องกัน รวมถึงการย่ำน้ำที่อาจสัมผัสโรคฉี่หนูได้ ถ้าหากมีอาการไข้สูง ปวดน่อง ตาแดงให้รีบแพทย์ทันที ส่วนที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือเรื่องอุบัติเหตุ อาการปวดกล้ามเนื้อ และความเครียด โดยเฉพาะขณะเข้าฟื้นฟูบ้านพักอาศัย อาจเกิดไฟฟ้าช็อตได้


กำลังโหลดความคิดเห็น