xs
xsm
sm
md
lg

จับทำหมัน-ฉีดวัคซีน แก้ปัญหา “หมาจรจัด” ชงออก กม.เลี้ยงสัตว์รับผิดชอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


องค์กรพิทักษ์สัตว์ ชี้ แก้ปัญหาสุนัขจรจัด ต้องทำหมัน คุมประชากร จับฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า กระตุกสติคนเลี้ยงสัตว์ต้องรับผิดชอบ ไม่ปล่อยทิ้งเป็นภาระสังคม เผย มีกฎหมายคุ้มครองสัตว์ แต่ไร้กฎหมายบังคับคนเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบ เสนอออกกฎหมายลูกเพิ่มเติม

จากกรณีข่าว ด.ช.อาทิตย์ กลิ่นสุคนธ์ หรือ น้องน้ำ อายุ 2 ขวบ 8 เดือน ถูกสุนัขจรจัด 5 ตัว รุมกัดจนมีอาการสาหัส ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึง พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ที่ออกมาเพื่อคุ้มครองสัตว์ ที่มนุษย์ไม่สามารถทำร้าย หรือทำอันตรายสัตว์ได้ เพราะมีโทษทางกฎหมายที่รุนแรง แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์สัตว์ทำร้ายคนเช่นนี้จะดำเนินการอย่างไร

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นางสุภาภรณ์ ลาสต์ ผู้อำนวยการองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกประจำประเทศไทย เคยให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาสุนัขจรจัด และ พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ฯ แก่ MGROnline ไว้ว่า สถานการณ์เรื่องสุนัขไร้เจ้าของ ถือว่าน่าเป็นห่วงสำหรับประเทศไทย จากข้อมูลของกรมปศุสัตว์ ประเทศไทยมีสุนัขจรจัดเกือบ 1 ล้านตัว เฉพาะใน กทม. ก็มีมากกว่าแสนตัว ซึ่งถือว่าน่าห่วง เพราะเป็นสุนัขที่ไม่มีใครดูแล ไม่เหมือนกับสุนัขเลี้ยงที่มีเจ้าของชัดเจน และมีการพาไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า แต่สุนัขจรจัดไร้เจ้าของเหล่านี้ไม่ได้รับการดูแลเรื่องดังกล่าว เพราะแม้จะมีคนใจดีหาอาหารมาให้สุนัขเหล่านี้ แต่ไม่ได้พาไปฉีดวัคซีนด้วย และหากไม่ได้มีการพาไปทำหมันก็จะยิ่งเพิ่มจำนวนสุนัขจรจัด และเพิ่มโอกาสการติดเชื้อพิษสุนัขบ้ามากยิ่งขึ้น

นางสุภาภรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ภาครัฐพยายามแก้ปัญหาสุนัขจรจัดใน 2 ทาง คือ 1. การควบคุมจำนวนประชากรสุนัขจรจัด ด้วยการทำหมันเพื่อไม่ให้มีลูกหลานเพิ่ม และ 2. การฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า ซึ่งทั้งสองวิธีเป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด ดีกว่าการฆ่าล้างสุนัขจรจัดอย่างมาก อีกทั้งเป็นการทารุณกรรม เพราะแม้จะฆ่าหมดทุกตัวในพื้นที่ แต่ตามปกติแล้วสุนัขจะต้องมีเจ้าหมู่ในพื้นที่ เมื่อสุนัขในพื้นที่ข้างเคียงเห็นว่าพื้นที่นี้ปลอดสุนัขแล้ว ก็จะเข้ามายึดถิ่น และเพิ่มจำนวนสุนัขจรจัดขึ้นมาอีกอยู่ดี จึงไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืน แต่การควบคุมจำนวนประชากรก็จะช่วยให้จำนวนไม่เพิ่มมากขึ้น และพยายามปูพรมฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมก็จะช่วยป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าไปได้

“ประเด็นสำคัญที่จะไม่เพิ่มจำนวนสุนัขจรจัด คือ การเลี้ยงสุนัขอย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งส่วนใหญ่คนที่เลี้ยงสุนัข เชื่อว่า มีความรักสุนัขอยู่แล้ว บางคนเลี้ยงเสมือนลูก แต่บางคนก็ยังเลี้ยงอย่างไม่มีความรับผิดชอบ คือ เลี้ยงลูกสุนัขก็เห็นว่าน่ารักดี แต่พอโตขึ้นก็หมดความสนใจหรือใส่ใจ สุดท้ายก็นำไปปล่อย กลายเป็นภาระแก่คนในสังคม ซึ่งผู้ที่จะเลี้ยงต้องเลี้ยงอย่างมีความรับผิดชอบจริงๆ เพราะสุนัขก็มีชีวิตจิตใจ ที่สำคัญต้องเลี้ยงโดยไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่คนรอบข้างหรือคนในสังคมด้วย” นางสุภาภรณ์ กล่าว

ส่วนกรณี พ.ร.บ. ป้องกันทารุณกรรมสัตว์ฯ ที่คุ้มครองสัตว์ แต่เมื่อคนถูกสร้างความรำคาญโดยสัตว์เลี้ยงของผู้อื่นหรือถูกละเมิดสิทธิ หรือถูกทำร้ายจะมีกฎหมายอะไรมาคุ้มครองมนุษย์อย่างบ้าง นางสุภาภรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแต่กฎหมายที่คุ้มครองสัตว์ แต่ยังไม่มีกฎหมายที่ออกมาบังคับเรื่องแสดงความรับผิดชอบของผู้ที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยง เช่น หากปล่อยให้สัตว์เลี้ยงไปก่อความรำคาญหรือเลี้ยงอย่างไม่รับผิดชอบ อย่างปล่อยไปกัดคน กัดกระต่าย ไปคุ้ยขยะบ้านคนอื่น เจ้าของก็ต้องได้รับบทลงโทษตามกฎหมาย เป็นต้น แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอังกฤษ หรือญี่ปุ่น เขาจะมีกฎหมายตรงนี้ชัดเจนเรื่องความรับผิดชอบของผู้ที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยง อย่างอังกฤษหากจะปล่อยสุนัขออกมาข้างนอกจะต้องล่าม หรือมีสายจูงตลอดเวลา หากไม่มีถูกปรับ 5,000 ปอนด์ ซึ่งการจูงสุนัขทุกครั้งที่พาออกไปข้างนกจะช่วยลดความเสี่ยงโรคพิษสุนัขบ้าได้ถึง 50% อย่างไรก็ตาม ตรงนี้ประเทศไทยก็อยู่ระหว่างการร่างกฎหมายลูกขึ้นมาภายใต้ พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมฯ สัตว์ แต่ระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายก็ยืนยันว่าคนเลี้ยงก็ต้องเลี้ยงด้วยความรับผิดชอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น