วิจัยพบผู้หญิงเคยรับควันบุหรี่มือสองในวัยเด็ก เพิ่มความเสี่ยงแท้งลูก ชี้ ระยะเวลาสัมผัวควันบุหรี่ยิ่งนาน โอกาสเสี่ยงแท้งยิ่งเพิ่มมากขึ้น
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า จากการวิจัยการได้รับควันบุหรี่มือสองในวัยเด็ก ของนักวิจัยชาวจีน ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร โทแบคโก คอนโทรล เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2559 ทำการวิจัยที่เมืองกว่างโจว โดยวิเคราะห์ประวัติสุขภาพของผู้หญิงจำนวน 19,562 คน โดยพบว่าร้อยละ 56.7 หรือ 11,091 คน เคยได้รับควันบุหรี่มือสองภายในบ้านเมื่อช่วงวัยเด็กอย่างน้อย 15 นาทีต่อวัน เป็นเวลามากกว่า 1 วันต่อสัปดาห์ในบ้าน โดยส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการแท้งลูกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ไม่ได้รับควันบุหรี่มือสองในวัยเด็ก ทั้งนี้ ความเสี่ยงของการแท้งลูกเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่สัมผัสควันบุหรี่มือสองด้วย
“รายงานนี้เป็นรายงานแรกจากเอเชียที่พบความสัมพันธ์ของการได้รับควันบุหรี่มือสองในวัยเด็ก กับการเพิ่มความเสี่ยงการแท้งลูกของสตรีในวัยเจริญพันธุ์ โดยสาเหตุอื่นๆ ของการแท้งลูก ได้แก่ การสูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์ การที่สามีเป็นคนสูบบุหรี่ การมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ถูกต้องขณะตั้งครรภ์ การได้รับมลพิษจากการประกอบอาชีพ หรือจากสิ่งแวดล้อม ผู้วิจัยสันนิษฐานว่า การได้รับควันบุหรี่มือสองขณะเป็นวัยเด็กทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายของเด็กที่กำลังเจริญเติบโต จนนำไปสู่การเกิดโรคต่างๆ รวมทั้งการเพิ่มความเสี่ยงของการแท้งลูกได้” ศ.นพ.ประกิต กล่าว
ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การรับควันบุหรี่มือในสองของเด็กไทย จากการสำรวจเมื่อปี 2558 พบว่า เด็กไทยอายุ 13 - 15 ปี ร้อยละ 33.8 ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน ขณะที่การสำรวจเมื่อปี 2554 พบว่า ร้อยละ 31.2 ของหญิงไทย อายุ 15 ปีขึ้นไป ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน โดยภาคใต้มีอัตราการได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านสูงสุด คือ ร้อยละ 43.5 และ กรุงเทพฯ ต่ำสุด คือ ร้อยละ 13.2 จึงขอเรียกร้องให้ผู้สูบบุหรี่ไทยทุกคนไม่สูบในบ้าน หรือดีที่สุดควรเลิกสูบ