xs
xsm
sm
md
lg

เร่งตั้ง คกก.แก้ กม.บัตรทองในสัปดาห์หน้า คาด 6 เดือนได้ฉบับใหม่ในรัฐบาล คสช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"หมอปิยะสกล" เร่งตั้ง คกก.ปรับปรุงร่าง กม.บัตรทองในสัปดาห์หน้า คาดดำเนินการแก้กฎหมายแล้วเสร็จใน 6 เดือน ให้ทันรัฐบาลชุดนี้ พบข้อเสนอแก้ไข กม.บัตรทองมีกว่า 20 ประเด็น ทั้งคุณสมบัติต้องห่ามเลขาธิการ สปสช. เงินช่วยเหลือผู้ให้บริการ ยกเลิกการร่วมจ่าย

จากกรณีการเตรียมปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยเฉพาะประเด็นที่มีปัญหาในการดำเนินงาน จนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีการออกคำสั่งมาตรา 44 เพื่อช่วยปลดล็อกให้สามารถดำเนินงานต่อไปได้

วันนี้ (6 ม.ค.) ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ซึ่งมีวาระเรื่อง "ร่างข้อเสนอการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545" โดย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และประธานบอร์ด สปสช. กล่าวว่า คำสั่งมาตรา 44 ช่วยแก้ปัญหาในระยะสั้น แต่เพื่อความยั่งยืนจึงต้องมีการปรับปรุง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ โดยให้กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการคลัง และ สธ.ดำเนินการจัดทำกฎหมาย ซึ่งกระทรวงยุติธรรมได้ส่งต่อให้ สธ.ดำเนินการ ซึ่งตนเห็นว่าควรมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยประธานจะต้องไม่ใช่แพทย์ และให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ ทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ สธ. สปสช. สำนักงานประกันสังคม ผู้แทนองค์กรเอกชน และฝ่ายวิชาชีพ ให้ส่งผู้แทน 2 คนจาก 5 วิชาชีพ ซึ่งหากไม่ส่งหรือล่าช้า ตนจะใช้วิธีจับฉลากเลือกผู้แทนเข้ามา ซึ่งจะแต่งตั้งให้ได้ภายในสัปดาห์หน้า และหลังจัดทำร่างแก้ไขแล้วจะให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์ด้วย ทั้งนี้ ตามคำสั่งนั้นประเด็นที่ให้มีการแก้ไขคือ ประเด็นที่เป็นปัญหาจนต้องใช้คำสั่งมาตรา 44 และประเด็นอื่นๆ ที่เห็นว่าควรแก้ไข โดยระยะเวลาจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6เดือนหลังมีคณะกรรมการ เพื่อให้แล้วเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ ส่วนข้อเสนอต่างๆ จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นพิจารณาต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมยังมีรายงานข้อเสนอทั้งจากภายใน สปสช.และภายนอกองค์กรต่างๆ ประมาณ 20 ข้อเสนอ อาทิ การปรับแก้ลักษณะต้องห้ามเลขาธิการ สปสช. การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ให้บริการ ข้อเสนอเรื่องการยกเลิกการร่วมจ่ายเมื่อเข้ารับบริการ โดยให้มีการพิจารณาการร่วมจ่ายเพื่อประกันสุขภาพในรูปแบบภาษี ขอให้มีการกำหนดให้ชัดว่า องค์กรใดที่สามารถให้บริการสุขภาพกับประชาชนได้บ้าง เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น