กสร. เผย ครม. ไฟเขียวร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ฉบับแก้ไข กำหนด “เกษียณ” เท่ากับเลิกจ้าง นายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชย ชี้อายุงานเกิน 10 ปี ได้ชดเชย 10 เดือน พร้อมกำหนดอายุเกษียณเป็น 60 ปี เป็นประโยชน์ต่อลูกจ้างในสถานประกอบการขนาดเล็ก
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีคณะรัฐทนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยสาระสำคัญ คือ กำหนดการเกษียณอายุให้ถือว่าเป็นการเลิกจ้าง และต้องจ่ายเงินชดเชยตามอายุงาน และกำหนดอายุเกษียณเป็น 60 ปี ว่า กฎหมายฉบับใหม่นี้จะเป็นประโยชน์อย่างมาก ซึ่งกฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดให้การเกษียณอายุงานต้องจ่ายเงินชดเชย แต่กฎหมายฉบับใหม่นี้หากเกษียณอายุต้องจ่ายเงินชดเชยด้วย และขยายอายุไปที่ 60 ปี ซึ่งจะช่วยให้ครอบคลุมสถานประกอบการขนาดเล็กที่ไม่มีการกำหนดการเกษียณอายุไว้ในสัญญาจ้างงาน ซึ่งคาดว่า มีกว่า 93,000 แห่ง มีลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกว่า 650,000 คน
“สำหรับอัตราค่าชดเชยตามอายุงาน คือ อายุงานมากกว่า 10 ปี ได้รับการชดเชย 10 เดือน หรือ 300 วัน หากทำงาน 6 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี ได้รับการชดเชย 8 เดือน อายุงาน 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จะได้รับค่าชดเชย 6 เดือน ทำงาน 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จะได้ค่าชดเชย 3 เดือน และทำงาน 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี ได้รับค่าชดเชย 1 เดือน หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษทั้งทางแพ่งและอาญา โดยทางแพ่งโทษปรับสูงสุดตามค่าชดเชยที่ค้างรวมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี หรือคิดเงินเพิ่มร้อยละ 15 ตามยอดเงินผิดนัดชำระ 7 วัน สำหรับโทษทางอาญาจำคุกสูงสุด 6 เดือน หรือทั้งจำและปรับไม่เกิน 100,000 บาท” อธิบดี กสร.กล่าว
นายสุเมธ กล่าวว่า ตนเชื่อว่า ผู้ที่อายุ 60 ปี และยังทำงานในสถานประกอบการกว่าร้อยละ 95 มีอายุงานมากกว่า 10 ปีแน่นอน จะได้รับค่าชดเชยเต็มอายุงาน คือ 10 เดือน อย่างไรก็ตาม หากมีการเลิกจ้างก่อนอายุ 60 ปี ลูกจ้างจะยังได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย หากไม่มีการกระทำความผิด นอกจากนี้ ในกฎหมายฉบับใหม่ ยังกำหนดให้คณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดค่าจ้างครอบคลุมลูกจ้าง ทั้งนักเรียน นิสิต คนพิการ ผู้สูงอายุ เพื่อให้การกำหนดค่าจ้าง สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและครอบคลุมลูกจ้างในระบบการจ้างงานทุกประเภท เช่น อัตราค่าจ้างของผู้สูงอายุ ที่ทำงานได้จำกัด ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความเป็นจริง ยกเว้น คนทำงานบ้าน แรงงานนอกระบบ
“หลังจากผ่าน ครม. แล้ว ขั้นตอนต่อไปจะต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเนื้อหาก่อน หากผ่านแล้วจึงค่อยส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา เพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว” อธิบดี กสร.กล่าว