กรมสุขภาพจิต ส่งทีมเยียวยาจิตใจ “ครอบครัว” ผู้เสียชีวิตเหตุรถตู้ชนกระบะ แนะคนใกล้ชิดลดการถามซ้ำ ตอกย้ำเหตุการณ์ เตือนสังคมโซเชียลเคารพสิทธิผู้รับผลกระทบ ไม่แชร์คลิป ภาพความสูญเสีย ป้องกันบาดแผลจิตใจ
วันนี้ (5 ม.ค.) น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีอุบัติเหตุรถตู้โดยสารชนรถกระบะที่ จ.ชลบุรี ทำให้มีผู้เสียชีวิต 25 ราย ว่า เบื้องต้นได้ส่งทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต หรือ MCATT ประเมินและเยียวยาจิตใจผู้ได้รับบาดเจ็บ รวมถึงครอบครัวและญาติของผู้เสียชีวิต เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบได้รับการดูแลสุขภาพจิตอย่างเหมาะสมป้องกันการเกิดบาดแผลทางใจในระยะยาว ทั้งนี้ ปฏิกิริยาทางจิตใจที่พบบ่อยในช่วงแรกของผู้ประสบภาวะสูญเสีย เช่น ช็อก ร้องไห้ฟูมฟาย เศร้าโศกเสียใจ เครียด มึนชา พูดไม่ออก ทำอะไรไม่ถูก นอนไม่หลับ กินไม่ได้ ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา ซึ่งเป็นภาวะตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันและรุนแรง ช่วงแรกอาจจะมีอาการมาก และส่วนใหญ่จะลดลงตามระยะเวลาที่ผ่านไป โดยมักจะดีขึ้นเร็ว ถ้าได้รับการดูแลสนับสนุนจากคนใกล้ชิดอย่างเหมาะสม รวมทั้งลดการถามซ้ำๆ หรือตอกย้ำด้วยเรื่องหรือสถานการณ์การเกิดเหตุ
“ทีม MCATT จะเฝ้าระวังและติดตามอย่างต่อเนื่องทุกรายจนกว่าจะมั่นใจว่าไม่มีปัญหาสุขภาพจิต เนื่องจากอาจเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพจิตระยะยาว ได้แก่ ภาวะซึมเศร้า โดยญาติ ครอบครัว เพื่อนบ้าน และคนใกล้ชิด จะมีส่วนช่วยเหลือและเป็นคนสำคัญ ที่จะช่วยสังเกต ดูแล เยียวยา และประคับประคองจิตใจผู้ที่ต้องประสบกับความสูญเสียให้ผ่านพ้นความทุกข์ที่เกิดขึ้นนี้ไปได้ ผ่านการรับฟัง ให้การสนับสนุน ให้กำลังใจ และไม่ตอกย้ำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับ สื่อมวลชนที่หากต้องสัมภาษณ์ก็สามารถมีส่วนร่วมในการเยียวยาจิตใจผู้ได้รับบาดเจ็บและครอบครัวที่ต้องประสบกับความสูญเสียได้ โดยหลีกเลี่ยงการสอบถามรายละเอียดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ให้เลือกใช้คำถามที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ระบายความรู้สึกมากกว่าการใช้คำถามชี้นำ เช่น ถามว่าโกรธหรือไม่พอใจใครหรือไม่ เป็นต้น” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ส่วนโลกออนไลน์ควรพึงเคารพสิทธิผู้ที่ได้รับผลกระทบ ผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บจากสถานการณ์ ไม่ควรแชร์หรือเผยแพร่ภาพผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือคลิปต่างๆ จากเหตุการณ์ความสูญเสียในครั้งนี้ เพราะจะยิ่งกระตุ้นให้ผู้ได้รับบาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิตคิดถึงภาพเหตุการณ์สะเทือนใจซ้ำไปซ้ำมา ตอกย้ำซ้ำเติมความรู้สึกให้แย่ลงไปอีก ควรแสดงออกถึงการให้กำลังใจ เพื่อให้ปรับตัวและก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงในช่วงวิกฤต สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติจะเหมาะสมกว่า ทั้งนี้ สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง