สธ. ลงพื้นที่ตรวจ “กระเช้าของขวัญปีใหม่” ยังไม่พบกระทำผิด แนะเลือกกระเช้าหรือผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” การันตีอาหารมีประโยชน์ ลดเสี่ยงโรคเรื้อรัง มอบสุขภาพดีให้คนที่รัก เผยมีผลิตภัณฑ์ได้นับสัญลักษณ์แล้ว 4 กลุ่มรวมกว่า 200 ผลิตภัณฑ์
วันนี้ (26 ธ.ค.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจกระเช้าของขวัญปีใหม่ที่ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาติวานนท์ ว่า การซื้อกระเช้าที่จัดไว้แล้ว ควรเลือกกระเช้าที่มีลักษณะห่อหุ้มอยู่ในสภาพดีและมีการแสดงฉลากรวม โดยเป็นฉลากที่แสดงรายการผลิตภัณฑ์อาหารที่จัดรวมในภาชนะ และข้อความต้องแสดงรายละเอียด ได้แก่ ชื่อหรือประเภทหรือชนิดของอาหาร วันเดือนปีที่หมดอายุ หรือควรบริโภคก่อนของอาหารแต่ละรายการที่บรรจุในกระเช้า ทั้งนี้ เมื่อนำกระเช้าไปมอบให้แก่ผู้รับ ไม่ควรแกะฉลากรวมออก เนื่องจากผู้รับสามารถตรวจสอบรายการผลิตภัณฑ์อาหารและวันหมดอายุว่าตรงกับฉลากหรือไม่ ทั้งนี้ หากพบว่ากระเช้าของขวัญไม่แสดงฉลากตามที่กฎหมายกำหนดหรือผลิตภัณฑ์ของอาหารแสดงฉากไม่ถูกต้อง จะมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งจากการลงพื้นที่ไม่พบการกระทำผิด
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ส่วนกรณีซื้อผลิตภัณฑ์อาหารมาจัดกระเช้าเอง หากเลือกอาหารกระป๋อง ควรดูลักษณะกระป๋อง ต้องไม่บุบ หรือโป่งพอง หรือมีรอยรั่ว ดูตะเข็บหรือรอยต่อเรียบร้อยและแน่นหนา และกระป๋องไม่เป็นสนิม และสังเกตฉลาก ควรแสดงข้อความรายละเอียดครบถ้วน เช่น เลข อย. ชื่อและที่ตั้งผู้ผลิต/ผู้นำเข้า วัน เดือน ปี ที่หมดอายุ ส่วนประกอบ เป็นต้น
“สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ร่วมกับสถานบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล สัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสมต่อสุขภาพ ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น อ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด ฯลฯ โดยขณะนี้มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับสัญลักษณ์ดังกล่าวแล้ว จำนวน 4 กลุ่มอาหาร ได้แก่ เครื่องดื่ม 153 ผลิตภัณฑ์ เครื่องปรุงรส 6 ผลิตภัณฑ์ อาหารกึ่งสำเร็จรูป 3 ผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์นม 38 ผลิตภัณฑ์ รวมทั้งหมด 200 ผลิตภัณฑ์ จึงขอแนะนำให้ประชาชนเลือกกระเช้าที่จัดไว้แล้ว หรือซื้อผลิตภัณฑ์อาหารมาจัดกระเช้าด้วยตนเอง ให้เลือกผลิตภัณฑ์อาหารที่แสดงสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” ดังกล่าว” รมว.สธ. กล่าว
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ในระยะต่อไปจะมีการจัดทำเกณฑ์สารอาหารหรือคุณค่าทางโภชนาการสำหรับกลุ่มอาหารเพิ่มเติม ได้แก่ อาหารกึ่งสำเร็จรูป (ข้าวต้มและโจ๊กที่ปรุงสำเร็จ) ขนมขบเคี้ยว มาการีน เนยเทียม หรือน้ำสลัด ผลิตภัณฑ์โฮลเกรน และไอศกรีม เพื่อเป็นการเพิ่มจำนวนให้มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองสัญลักษณ์โภชนาการอยู่ในท้องตลาดมากขึ้นต่อไป อย่างไรก็ตาม ในอนาคตผู้ผลิตจะมีการพิมพ์สัญลักษณ์ดังกล่าวลงในฉลากผลิตภัณฑ์ เพื่อป้องกันการติดสัญลักษณ์ปลอมด้วย