ประเทศไทยมีกฎหมายที่กำหนดชัดเจนว่าห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ขับรถจักรยานยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์ คือ พ.ร.บ. การจราจรทางบก พ.ศ. 2522 โดยอายุที่เริ่มขับขี่มอเตอร์ไซค์ได้ คือ อายุ 15 - 17 ปี โดยสามารถขับขี่เครื่องยนต์ที่ไม่เกิน 110 ซีซี แต่ความเป็นจริงคือ มีการละเมิดกฎหมายข้อนี้กันอย่างมาก โดยที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ได้ห้ามปราม ซ้ำยังสนับสนุนให้เด็กขี่มอเตอร์ไซค์กันอย่างเสรีด้วย
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “เด็ก Don't Drive : ก่อน 15 ปี เลิกขับขี่ เลิกเจ็บ เลิกตาย” จัดโดยศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยฯ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า พื้นที่ที่มีปัญหามาก คือ ต่างจังหวัด ที่พ่อแม่สนับสนุนลูกให้ขี่มอเตอร์ไซค์ไปโรงเรียน แม้แต่พ่อแม่ที่เป็นผู้นำท้องถิ่นยังสนับสนุน ซึ่งจากการสำรวจเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จาก 9 จังหวัด จำนวน 2,822 คน เฉลี่ยอายุ 12 ปี พบว่า 58% ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นแล้ว โดยเฉพาะเด็กผู้ชายขับขี่ได้มากกว่าเด็กหญิง และยังพบเด็กอายุน้อยที่สุดที่เริ่มหัดขับ คือ 7 ปี อายุที่เริ่มหัดขับมากที่สุด คือ อายุ 10 - 11 ปี โดย 64% สอนโดยพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ขณะเดียวกัน ผู้รักษากฎหมายกลับละเลยในเรื่องเหล่านี้ ทั้งที่เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ไม่มีใบขับขี่ เพราะยังสอบใบขับขี่ไม่ได้ แต่กลับปล่อยให้ขับขี่กันไปโรงเรียน หรือไปไหนมาไหนอย่างเสรี ซึ่งสุดท้ายนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างมาก โดยเฉพาะการเกิดอุบัติเหตุ
สาเหตุที่ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ขับมอเตอร์ไซค์นั้น เพราะมีการศึกษาที่ชัดเจนแล้วว่า เด็กวัยรุ่นยังไม่พร้อมที่จะขับรถ และเกิดความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ โดย รศ.นพ.อดิศักดิ์ สรุปไว้ 5 ประเด็น ดังนี้
1. เพราะวัยรุ่นเป็นนักขับมือใหม่ ขาดประสบการณ์ในการขับขี่
2. ขาดวุฒิภาวะ ซึ่งการขับขี่เป็นกระบวนการที่ซับซ้อนที่ต้องอาศัยความรู้ ความสามารถของระบบประสาทและการตัดสินใจที่ดี แต่เด็กในวัยนี้การพัฒนาการด้านการประสานงานของกล้ามเนื้อ การมองเห็น การแยกแยะภาพเคลื่อนไหว เพื่อตอบสนองทันที และการตัดสินใจภาวะฉุกเฉินยังไม่สมบูรณ์ก่อนอายุ 18 - 25 ปี ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการขับขี่อย่างมาก โดยพบว่ามือใหม่หัดขับในวัยรุ่นที่มีอายุมากกว่าจะมีอัตราการเสียชีวิตน้อยกว่าคนที่อายุน้อยกว่า
3. วัยรุ่นชอบมีพฤติกรรมเสี่ยงอันตราย จากแรงขับของฮอร์โมนเพศ ทำให้เกิดความต้องการที่จะเสี่ยงในระดับหนึ่งของวัยรุ่นสูงกว่าวัยอื่น ทั้งนี้ อาจมีแรงเสริมจากอารมณ์ของวัยรุ่น แรงผลักดันจากเพื่อนและความเครียดอื่นๆ เช่น มักพบว่าขับด้วยความเร็วสูง การแซงกระชั้นชิด การเบรกในระยะประชิด การเลี้ยวตัดหน้า การขับขี่ในสถานการณ์ท้าทาย
4. มักมีพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แลการใช้ยาก่อนขับขี่
และ 5. ไม่นิยมใช้อุปกรณ์เสริมความปลอดภัย
ด้วยสาเหตุที่ว่ามาทั้งหมด ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนของวัยรุ่นสูงมาก ซึ่งจากการสำรวจสถิติการตายของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จากอุบัติเหตุทางถนน ในเวลา 16 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2543 - 2558 พบว่า ในกลุ่มเด็กอายุ 10 - 14 ปี มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 โดยกลุ่มอายุยิ่งมากจำนวนผู้เสียชีวิตก็ยิ่งมาก คือ อายุ 14 อัตราการเสียชีวิตสูงสุด คิดเป็น 44% รองลงมาคือ 13 ปี อยู่ที่ 25% ทั้งนี้ ยังพบว่าการเสียชีวิตเกิดจากการผู้ขับขี่เองสูงสุด คือ 46% รองลงมา คือ เป็นผู้โดยสาร 34% พาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด คือ จักรยานยนต์ 76% โดยปี 2558 มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากถึง 943 คน เป็นกลุ่มอายุ 10 - 14 ปี 575 คน คิดเป็น 61% ขณะที่เด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบลงมา อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมีแนวโน้มลดลง และการเสียชีวิตส่วนใหญ่มักเป็นผู้โดยสาร
“จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่ากลุ่มช่วงอายุที่มีปัญหามากที่สุด คือ อายุ 10 - 14 ปี ดังนั้น จึงต้องมีการรณรงค์ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยเฉพาะช่วงอายุ 10 - 14 ปี ขับขี่มอเตอร์ไซค์ จึงเกิดโครงการเด็ก don’t drive ก่อน 15 ปี เลิกขี่ เลิกเจ็บ เลิกตาย นำร่องใน 80 โรงเรียน รวม 25 จังหวัด โดยชักชวนเด็กไม่เกิน ม.3 รวมตัวกัน 4 - 5 คน และครูที่ปรึกษา มาร่วมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมความปลอดภัยในโรงเรียน โดยมีการสำรวจข้อมูลผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์อายุต่ำกว่า 15 ปี ทำการรณรงค์เพื่อสื่อสารกับเพื่อนๆ การปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนและพัฒนากฎระเบียบในโรงเรียน สิ่งที่สำคัญคือ เด็กได้แสดงความตั้งในเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองและหมู่คณะของตัวเอง ซึ่งแนวทางการทำงานที่ประสบผลสำเร็จจะนำไปขยายผลในโรงเรียนที่อยู่รอบข้างต่อไป ทั้งนี้ หากห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีขับขี่รถจักรยานยนต์ จะสามารถลดอัตราการตายจากอุบัติเหตุทางถนนของเด็กอายุ 1 - 14 ปี ลงได้ 40% และ ลดอัตราการตายจากอุบัติเหตุทางถนนของเด็กอายุ 10 - 14 ปี ลงได้ถึง 65%” รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าว
สำหรับการรณรงค์ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ขับขี่มอเตอร์ไซค์ โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 7 จ.สุพรรณบุรี ถือเป็นหนึ่งในโรงเรียนนำร่อง ที่มีการดำเนินการลดการขี่มอเตอร์ไซค์ในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ลงอย่างได้ผล
นางประอรศิริ ชวีวัฒน์ ครูชำนาญการพิเศษโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 7 จ.สุพรรณบุรี เล่าว่า ร.ร.บรรหารแจ่มใสวิทยา 7 ถือเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก โดยพบว่า มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ขี่มอเตอร์ไซค์มาโรงเรียนจำนวนมาก ก็ได้มีการรณรงค์เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยการสร้างแรงจูงใจให้หันมาใช้การเดินทางวิธีอื่น โดยไม่ต้องขับขี่มอเตอร์ไซค์ คือ มีการประชุมผู้ปกครองเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องนี้ และสร้างความตระหนักถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นหากลูกขับขี่มอเตอร์ไซค์แล้วเกิดอุบัติเหตุ โดยมีการเชิญตำรวจและบุคลากรสาธารณสุขมาให้ความรู้ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้เด็กนักเรียนมาโรงเรียนด้วยรถรับส่งนักเรียน โดยมีการจัดสรรงบประมาณเป็นค่ารถรับส่งนักเรียน โดยคิดตามรายหัวของเด็ก โดยรถรับส่งนักเรียน 1 คัน จะมีรายชื่อนักเรียนประจำอยู่ว่ามีใครบ้าง โดยหากเป็นเด็กชั้น ม.1 และ ม.4 จะสนับสนุนเต็ม 100% แต่หากเป็นชั้นอื่น คือ ม.2 - 3 และ ม.5 - 6 จะสนับสนุน 50% เช่น ค่ารถรับส่งนักเรียนชั้น ม.1 อยู่ที่ 10,000 บาทต่อเดือน โรงเรียนก็จะสนับสนุนทั้งหมด แต่หากเป็นชั้น ม. อื่นก็จะสนับสนุนครึ่งเดียว เป็นต้น
ด้าน นายสุรพล พูลสวัสดิ์ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 7 จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า เพื่อนนักเรียนเกิดอุบัติเหตุจากการขับรถมอเตอร์ไซค์กันจำนวนมาก ซึ่งจากการรวบรวมสาเหตุ พบว่า มีหลากหลาย ทั้งการขับแบบยกล้อ เปลี่ยนท่อเสียงดังเพื่อโชว์สาว ขับรถชนสุนัข เหล่สาวจนขับรถลงข้างทาง นอกจากนี้ พบว่า หลายคนเรียกร้องขอรถมอเตอร์ไซค์จากผู้ปกครองโดยยกเรื่องการเรียนเป็นข้อแลกเปลี่ยน การสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องนี้ จึงอาศัยความสามารถเรื่องการละครของโรงเรียนมาสนับสนุน คือ จัดทำละครยามเช้าเพื่อการเปลี่ยนแปลง โดยเล่าถึงเหตุการณ์ความสูญเสียเพื่อนจากอุบัติเหตุการขับขี่มอเตอร์ไซค์ รวมถึงการสื่อสารความรู้วิถีเด็กแว้นที่ไม่ควรปฏิบัติ และมีการแต่งเพลงเพื่อเป็นสื่อรณรงค์ด้วย ก็ส่งผลให้เพื่อนนักเรียนมีความตระหนักในเรื่องนี้ ลดการขับขี่มอเตอร์ไซค์มาโรงเรียนลง และหันมาใช้รถรับส่งของโรงเรียนแทน