กมธ.สธ.สนช. เตรียมสร้างเกณฑ์คุณภาพงานบริการสาธารณสุข รองรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ห่วงงบบัตรทองไม่เพียงพอ งบที่ได้รับต่ำกว่าที่ยื่นขอทุกปี หวั่นผลกระทบคุณภาพบริการรักษา แนะจัดทำตัวชี้วัดสะท้อนปัญหางบไม่พอ
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการสาธารณสุข (กมธ.สธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ผ่านมา ได้นำคณะ กมธ.สธ. ศึกษาดูงานที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมแลกเปลี่ยนความเห็นการบริหารงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ปัญหาและอุปสรรค ทั้งนี้ จากการติดตามระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ยอมรับว่าเป็นระบบที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งการจะทำให้ระบบสมบูรณ์คงเป็นเรื่องยาก ขณะที่ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และการตรวจสอบของหน่วยงานต่างๆ อย่างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ที่ผ่านมาไม่ไปด้วยกันจึงทำให้เกิดปัญหาขึ้น รวมทั้งตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในมาตรา 55 ยังกำหนดให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง ดังนั้น เรื่องคุณภาพจึงเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งเรื่องนี้ กมธ.สธ. ได้เสนอให้เตรียมยุทธศาสตร์และสร้างเกณฑ์คุณภาพเพิ่มเพื่อรองรับรัฐธรรมนูญ
นพ.เจตน์ กล่าวว่า ทั้งนี้ ด้วยงบประมาณที่ไม่เพียงพอต่อการดำเนินระบบที่เป็นปัญหาสำคัญ ที่ผ่านมาจึง กมธ.สธ. จึงได้เสนอให้มีการแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว เพราะมองว่าน่าจะเป็นประโยชน์ ทำให้เห็นตัวเลขที่ชัดเจนรวมถึงการนำเสนอเพิ่มเติมงบประมาณ เพื่อให้ระบบสามารถดำเนินไปอย่างมีคุณภาพต่อไป เพราะไม่เช่นนั้นจะการจะทำเรื่องใดเพื่อเป็นการพัฒนาระบบบริการคงเป็นไปได้ยาก เช่น การสนับสนุนโครงการคลินิกชุมชนอบอุ่นเพื่อช่วยกระจายผู้ป่วยนอกออกจาก รพ. แต่หากงบประมาณไม่เพียงพอ การจะดึงคลินิกชุมชนอบอุ่นร่วมบริการในระบบคงเป็นเรื่องที่ยาก รวมถึงการสร้างความยั่งยืนให้กับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
“ในการจัดทำงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่า อัตราเหมาจ่ายรายหัวและงบประมาณที่ได้รับต่ำกว่าที่ยื่นคำขออย่างมาก ในปี 2557 ขอ 189,720 ล้านบาท แต่ได้รับเพียง 154,258 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ควรมีการจัดทำตัวชี้วัดที่ชัดเจน เพื่อสะท้อนให้เห็นปัญหาจากงบประมาณไม่เพียงพอ แต่ที่ผ่านมา มักมีการบริหารภายใน รวมถึงการช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ จนไม่สะท้อนปัญหาที่เป็นจริง คณะกรรมการ 7x7 และ 5x5 ที่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง สปสช. และ สธ. ก็ทำงานได้ผลดี มีการคุยกับ สธ. มากขึ้น นอกจากนั้น” นพ.เจตน์ กล่าว
ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รักษาการเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ การสร้างหลักประกันให้กับคนทุกคนให้สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ตามความจำเป็น และไม่ล้มละลายจากการเจ็บป่วย ด้วยบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน ประชาชน และผู้ให้บริการมีความพึงพอใจ โดยคำนึงถึงเกียรติและศักดิ์ศรีของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ที่ผ่านมา สปสช. ได้มีการปรับปรุงการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมาภายใต้นโยบายของ รมว.สาธารณสุข ซึ่งได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ 7x7 และคณะทำงาน 5x5 ส่งผลให้ สปสช. และกระทรวงสาธารณสุข มีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ในการจัดสรรและแก้ไขปัญหางบประมาณของหน่วยบริการ ซึ่งจะส่งผลแก้ไขปัญหา
ทั้งนี้ จากการทำงานได้มีข้อสรุปร่วมกัน คือ การปรับจัดสรรเงินแบบขั้นบันได การกำหนดตัวชี้วัดในการติดตามและประเมินผล การปรับปรุงแนวทางการจ่ายเงินให้แก่หน่วยบริการเพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะ สตง. คตร. และคำสั่ง คสช. และแนวทางการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารงบค่าบริการผู้ป่วยในในระดับพื้นที่