xs
xsm
sm
md
lg

“เหล้า-เบียร์” รุกโซเชียลฯ จัดสารพัดโปรโมชันล่อใจเด็ก “วัยรุ่น” รับตามคอนเสิร์ต-เบียร์ปาร์ตีผ่านเฟซบุ๊ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สสส.- ศวส. เตรียมจัดประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้ง 9 วันที่ 24 - 25 พ.ย. นี้ ชี้ เยาวชนไทยน่าห่วง ธุรกิจสุรา เบียร์ ผับ บาร์ ฉวยโอกาสรุกโซเชียลมีเดีย จัดสารพัดโปรโมชัน เด็กมหาวิทยาลัย 43.4% ยอมรับ ติดตามคอนเสิร์ต - เบียร์ ปาร์ตีจากเฟซบุ๊ก

ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ มากกว่า 200 ชนิด เป็นต้นเหตุการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลกมากถึง 3.3 ล้านคนต่อปี หรือทุก 10 วินาที จะมีคนตาย 1 คน เมื่อพิจารณาข้อมูลในประเทศไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี 2558 ประชากรไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป มีประมาณ 18 ล้านคน ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใน 12 เดือนที่ผ่านมา ในจำนวนนี้ร้อยละ 40 เป็นนักดื่มประจำ ซึ่งดื่มตั้งแต่ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ขึ้นไป และจากการสำรวจในนักเรียนระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศ เมื่อต้นปี 2559 นี้ พบว่า นักเรียนชายร้อยละ 19.3 และนักเรียนหญิงร้อยละ 16.2 ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปัจจุบัน หรือ 30 วันก่อนการสำรวจ

“สถานการณ์การดื่มที่น่าเป็นห่วง ยังอยู่ในกลุ่มเยาวชน แต่ละปียังเกิดนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากปัญหาสุขภาพ ยังเกิดปัญหาสังคม เช่น ปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง การทะเลาะวิวาท ปัญหาการเรียน การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ อุบัติเหตุและการบาดเจ็บ การตายก่อนวัยอันควร รวมทั้งมีผลต่อชีวิตเด็กและเยาวชนคนนั้นต่อไปในอนาคต โดยเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคติดสุรา และการทำงานของสมองเสื่อมถอย เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ จึงจำเป็นต้องมีนโยบายสนับสนุนการไม่ดื่มสุราในโอกาสต่างๆ และการสร้างค่านิยม หรือบรรทัดฐานทางสังคมต่อการไม่ดื่มสุรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กและเยาวชน” ดร.นพ.บัณฑิต กล่าว

ดร.นพ.บัณฑิต กล่าวต่อว่า การขับเคลื่อนเพื่อผลักดันให้เกิดนโยบาย มาตรการ และการดำเนินการต่างๆ เพื่อควบคุม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องอาศัยความรู้ ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนภาคประชาสังคมและภาคนโยบาย ซึ่งในวันที่ 24 - 25 พ.ย. นี้ สสส. ร่วมกับ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) พร้อมด้วยเครือข่ายภาคีต่างๆ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า แผนงานการพัฒนาระบบการดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุรา แผนงานภาคีวิชาการสารเสพติด สำนักวิจัยนโยบายสร้างเสริมสุขภาพ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวมทั้งสิ้น 10 องค์กร ได้จัดการประชุมวิชาการสุราระดับชาติประจำปีขึ้น โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 9 ภายใต้หัวข้อ “สานพลังพิทักษ์สิทธิเด็กและเยาวชนให้พ้นภัยสุรา” ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พร้อมทั้งร่วมกันระดมความคิดเห็น วางแนวทางการผลักดันยุทธศาสตร์เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา

ด้าน ดร.ศรีรัช ลอยสมุทร ภาควิชาสื่อสารการตลาด วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า จากการวิจัยเรื่อง “เมื่อร้านเหล้าและธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายโดยตรง : สื่อ Social media คือ เครื่องมือสำคัญ” พบว่า โซเชียลมีเดีย กลายเป็นช่องทางสำคัญที่ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใช้ในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายอย่างเยาวชน ซึ่งพบว่าได้รับผลตอบรับรวดเร็ว และแพร่กระจายในวงกว้าง โดยที่กฎหมายยังไม่สามารถควบคุมได้ และถือเป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพกว่าสื่อโฆษณาแบบเก่าอย่างมาก

ดร.ศรีรัช กล่าวว่า จากการศึกษา พบว่า กลุ่มนักศึกษาระดับอุดมศึกษาร้อยละ 43.4 ระบุว่า ติดตามงานคอนเสิร์ตและงานเบียร์ปาร์ตีที่จัดตามร้านเหล้ารอบสถานศึกษา ผ่านทางสื่อ เฟซบุ๊กของร้าน ร้อยละ 46 บอกว่า ทราบว่า จะมีงานเหล่านี้จากการที่เพื่อนแชร์/แท็ก บอกกันในสื่อโซเชียลมีเดีย และร้อยละ 24 ระบุว่า ทราบจากการได้รับ SMS ที่ร้านเหล้าส่งมาให้ในโทรศัพท์ และใน Line ซึ่งเกือบทุกรายมีพฤติกรรมเดียวกัน คือ ส่งต่อ แปะหน้าเฟซบุ๊กตนเอง หรือเพื่อน แชร์ แท็กเพื่อนๆ และยังมีโปรโมชันให้เช็กอิน เพื่อเป็นการส่งต่อ โฆษณาเพื่อนในออนไลน์ ในทางตรงกันข้าม มีเพียงร้อยละ 1.6 เท่านั้น ที่ระบุว่า รู้เรื่องงานกิจกรรมต่างๆ ของร้านเหล้าจากการเห็นป้ายโฆษณา ซึ่งตอกย้ำว่าสื่อเก่าไม่ได้ผล และไม่มีประสิทธิภาพในการสื่อสารกับวัยรุ่นยุคใหม่เท่าสื่อโซเชียลมีเดีย

“ธุรกิจแอลกอฮอล์รู้ดีว่า สื่อประเภทไหนที่เข้าถึงเยาวชนได้มากที่สุด ประกอบกับกฎหมายยังไม่สามารถควบคุมไปถึง ทำให้เกิดเป็นช่องโหว่ และเกิดการกระตุ้นการดื่มผ่านช่องทางของสื่อโซเชียลจำนวนมาก โดยใช้ผู้ดื่มเป็นช่องทางโฆษณากระตุ้นให้เกิดการพูดถึง ไลก์ แชร์ ส่งต่อ รวมทั้งใช้การโฆษณาผ่านสื่อบุคคล โดยเฉพาะบุคคลที่เป็นที่ได้รับความสนใจในโลกโซเชียล การใช้กลยุทธ์ lifestyle marketing หรือการสร้างพฤติกรรมต้นแบบให้เกิดการเลียนแบบและจูงใจ ผ่านวิธีการต่างๆ เช่น การติด hashtag การท้าให้ทำแคมเปญตามๆ กัน หรือ การเล่นเกม ซึ่งในยุคที่สื่อเหล่านี้มีบทบาทสูง ภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องรู้เท่าทัน เพื่อใช้มาตรการที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพในการป้องกันเยาวชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ” ดร.ศรีรัช กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น