xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ประกอบการเร่งลด “ต้นทุน” รองรับขึ้นค่าแรง 5-10 บาท ชี้ค่าจ้างเป็นธรรม หาก “ลูกจ้าง” ใช้เงินพอเพียง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้ประกอบการ ชี้ ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 60 อีก 5 - 10 บาท กระทบต้นทุนเล็กน้อย เร่งออกมาตรการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มทักษะแรงงานรองรับ ชี้ ค่าจ้างที่เป็นธรรมขึ้นกับการดำรงชีวิตลูกจ้าง ห่วงใช้เงินเกินค่าตอบแทน แนะใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงมาปรับใช้ จัดทำบัญชีครัวเรือน

นายสุทธิ สุโกศล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะรองโฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) มีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2560 ในอัตรา 5 - 10 บาท ว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าว บอร์ดค่าจ้างได้กำหนดแนวคิดในการพิจารณาซึ่งเป็นอัตราค่าจ้างที่เพียงพอสำหรับแรงงานเพื่อพัฒนาฝีมือ ซึ่งมีเจตนารมณ์ให้แรงงานทั่วไปที่แรกเข้าทำงาน 1 คน ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก่มาตรฐานการครองชีพ โดยคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งความเหมาะสมและความสามารถในการดำเนินธุรกิจในท้องถิ่นด้วย ขณะเดียวกัน ลูกจ้างเองก็ต้องทำงานให้สอดคล้องกับทักษะฝีมือ และพัฒนาตนเองเพื่อให้ได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้นด้วย

นายอนุสรณ์ วิมลอนุพงษ์ ผู้อำนวยการส่วนบุคคลและพัฒนาระบบ บริษัท แอล แอนด์ อี แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ผู้ผลิตด้านไฟฟ้าแสงสว่าง กล่าวว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ มีผลทางอ้อมต่อต้นทุนในการผลิตสินค้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากสินค้าบางประเภทต้องแข่งขันกับแหล่งผลิตในต่างประเทศ สิ่งที่ทำตอนนี้คือ ลดต้นทุนในการผลิต ถึงแม้ว่าต้นทุนทางด้านแรงงานจะปรับขึ้นในต้นปีหน้า แต่สถานประกอบการได้มีมาตรการในการพัฒนาฝีมือให้แก่พนักงานกลุ่มนี้อยู่แล้ว ส่วนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ ซึ่งถือว่ามีอัตราส่วนไม่มาก แต่เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน พบว่า ค่าจ้างขั้นต่ำของไทยยังค่อนข้างสูง เมื่อถามว่า การปรับค่าจ้างมีความเป็นธรรมต่อลูกจ้างหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการดำรงชีวิตของพนักงานมากกว่า เนื่องจากปัจจุบันคนไทยดำรงชีวิตเกินกว่าอัตราค่าตอบแทนที่ได้รับ ส่วนใหญ่มีหนี้นอกระบบมากกว่าร้อยละ 50 ของพนักงานทั้งหมด จึงต้องบริหารจัดการในส่วนนี้ ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาปรับใช้ในการดำรงชีวิต และการให้ความรู้เรื่องการจัดทำบัญชีครัวเรือน ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

“ส่วนมาตรการที่กำหนดเพื่อรองรับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่จะมีผลในต้นปี 2560 นั้น เบื้องต้นสถานประกอบการพยายามให้พนักงานที่ประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้าและแสงสว่างได้มีโอกาสเข้าไปทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในสาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้มีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ หรือ License จะส่งผลให้ได้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าที่มีคุณภาพได้รับการรับรองจากภาครัฐ นอกจากนี้ ได้พัฒนาเครื่องมือให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อลดต้นทุนในการผลิตอีกทางหนึ่งด้วย” นายอนุสรณ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น