จิตแพทย์เตือนอารมณ์เศร้าเสียใจจาก “พ่อแม่” กระทบถึงลูก เหตุเด็กเล็กยังไม่เข้าใจเรื่องการตาย เสี่ยงเข้าใจผิดตัวเองทำอะไรผิด ทำไม่ดีให้พ่อแม่เสียใจ แนะอธิบายให้เด็กเข้าใจ และพาร่วมแสดงความจงรักภักดี ช่วยเด็กรุ่นใหม่มีความรักต่อพระมหากษัตริย์มากขึ้น
พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า ปฏิกิริยาเศร้าโศกเสียใจจากการสูญเสียของผู้ใหญ่มีผลกระทบกับเด็ก เพราะเด็กสามารถซึมซับอารมณ์จากผู้ใหญ่ได้ โดยอาจไม่เข้าใจถึงเหตุและผลของความเสียใจจากการสูญเสียนั้น เนื่องจากพัฒนาการด้านความเข้าใจเรื่องการตายของเด็กมีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุ โดยแบ่งเป็น 4 ช่วงวัย ได้แก่ 1. อายุ 0 - 2 ปี เด็กยังไม่เข้าใจเรื่องการตาย จะเข้าใจแค่ถูกพลัดพราก ถูกแยกจาก 2. อายุ 2 - 6 ปี เด็กยังเข้าใจว่าตายแล้วสามารถฟื้นได้ ยังสามารถกลับมาได้ 3. อายุ 6 - 11 ปี เด็กเริ่มเข้าใจการตายว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถฟื้นได้ แต่ก็ยังไม่เข้าใจว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน และ 4. อายุ 11 ปีขึ้นไป เข้าใจเรื่องการตายว่า คือ การไปไม่กลับ ไม่ฟื้นและมนุษย์ทุกคนต้องตายในที่สุด
พญ.มธุรดา กล่าวว่า เด็กยังเล็กจึงยังไม่เข้าใจและมักเกิดความกังวลและแปลความหมายเกี่ยวกับความโศกเศร้าของผู้ใหญ่ว่าตนเองได้ทำอะไรผิดหรือไม่ จึงทำให้ผู้ใหญ่เสียใจ และกังวลว่า อาจเกิดเรื่องไม่ดีกับตนเอง ผู้ใหญ่จึงควรอธิบายให้เด็กเข้าใจตามวัยว่าเสียใจจากการสูญเสียคนที่รัก ความเศร้าเป็นเรื่องธรรมดาจากการสูญเสีย จึงแสดงออกด้วยการร้องไห้ เด็กไม่ทำอะไรผิด และผู้ใหญ่ควรมีวิธีการจัดการความรู้สึกเศร้าของตนเองอย่างเหมาะสม
“เด็ก ๆ ยังไม่เข้าใจเรื่องความหมายของการตาย เพราะฉะนั้น ในช่วงเวลานี้เด็กยังอาจมีการแสดงความสนุกสนานร่าเริงตามธรรมชาติ จนกว่าจะอายุ 11 ปีขึ้นไป จึงจะมีความสงบเหมือนผู้ใหญ่ ซึ่งอาจทำให้พ่อแม่ ปู่ยาตายายที่มีความเศร้าโศกต่อการสูญเสียเกิดความหงุดหงิดได้ง่าย และบางครั้งอาจแสดงอารมณ์ต่อหน้าเด็ก จึงอยากให้พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่ต้องดูแลเด็กปล่อยให้เด็กได้เป็นไปตามธรรมชาติช่วงวัยของเขา และควรใช้เวลานี้นำเด็กมาร่วมแสดงความจงรักภักดี เช่น การให้ลูกแต่งชุดดำ หรือร่วมถวายความอาลัย แต่ต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจถึงการแสดงออกดังกล่าวตามช่วงวัยที่เด็กจะเข้าใจได้ด้วย จะทำให้เด็กมีความรักต่อพระมหากษัตริย์มากขึ้น รวมถึงการอธิบายให้เข้าใจว่าในช่วงเวลาแบบนี้การจะชวนลูกไปดูหนัง หรือทำกิจกรรมรื่นเริงสนุกสนานอาจน้อยลง ซึ่งความน่ารักของเด็กจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยความเศร้าโศกของผู้ใหญ่” พญ.มธุรดา กล่าว