xs
xsm
sm
md
lg

อยาก “ปอด” สะอาด ต้องสร้างเมืองปลอดควันบุหรี่!!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

“บุหรี่” เป็นต้นเหตุของสารพัดโรค ทั้งมะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพอง มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ วัณโรค เบาหวาน ฯลฯ เพราะการจุดบุหรี่ 1 มวน ก่อให้เกิดสารพิษมากกว่า 7,000 ชนิด อาทิ คาร์บอนมอนอกไซด์ แอมโมเนีย สารกัมมันตรังสี สารหนู อะซิโตน ไฮโดรเจนไซยาไนด์ เป็นต้น

หลายคนทั้งที่ไม่สูบบุหรี่ แต่กลับต้องป่วยและเสียชีวิตลงจากการได้รับ “ควันบุหรี่มือสอง” และ “ควันบุหรี่มือสาม” จากการสูบบุหรี่ของบุคคลอื่น สำคัญที่สุดคือจากคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัว

น.ส.บังอร ฤทธิภักดี ผู้อำนวยการบริหารองค์กรเครือข่ายเพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบในอาเซียน (FEATCA) เปิดเผยว่า เยาวชนไทยถูกรมควันจากควันบุหรี่มือสองเป็นจำนวนมาก โดย 45.7% รับควันบุหรี่มือสองจากในบ้านของตนเอง และ 67.6% ได้รับควันบุหรี่มือสองจากนอกบ้าน การแก้ปัญหาเรื่องการรับควันบุหรี่มืองสองหรือมือสามนั้น ปัจจัยสำคัญหนึ่ง คือ การสร้างเมืองปลอดควันบุหรี่ขึ้น โดยเฉพาะการห้ามสูบในพื้นที่สาธารณะ หากจะสูบจะต้องสูบในพื้นที่ที่กำหนดไว้ให้

สำหรับประเทศไทยมีการออกกฎหมายห้ามสูบในพื้นที่สาธารณะ ซึ่ง ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ บอกว่า การห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ สามารถช่วยลดอัตราการรับควันบุหรี่มือสองทั้งในบ้านและนอกบ้านลงได้ เพราะแน่นอนว่าเมื่อเป็นพื้นที่ห้ามสูบและไม่มีการสูบบุหรี่ บุคคลทั่วไปที่มาใช้สถานที่สาธารณะต่าง ๆ ก็จะไม่ได้รับควันบุหรี่เหล่านี้ ส่วนที่กังวลว่าเมื่อคนสูบบุหรี่ไม่ได้สูบบุหรี่ในที่สาธารณะจะกลับไปสูบบุหรี่ที่บ้าน กลายเป็นการทำร้ายคนในครอบครัวนั้น ข้อนี้ไม่จริง เพราะเท่าที่มีการทำเมืองปลอดควันบุหรี่ในประเทศต่าง ๆ จะพบว่า เมื่อห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธาณะ ผู้สูบบุหรี่จะไม่กลับไปสูบที่บ้าน เพราะเห็นว่าคนทั่วไปภายนอกยังรังเกียจ ไม่อยากถูกทำร้ายสุขภาพ เขาก็จะไม่กลับไปทำร้ายสุขภาพคนในบ้านตัวเอง

“การมีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่พื้นที่สาธารณะจึงเป็นตัวช่วยในการลดปัญหาการรับควันบุหรี่มือสองภายในและภายนอกบ้าน ที่สำคัญ เมื่อไม่มีการสูบบุหรี่ในบ้านก็จะช่วยลดอัตราการเป็นนักสูบหน้าใหม่ของเยาวชนลงได้ด้วย เพราะไม่เจอตัวอย่างการสูบบุหรี่ภายในบ้านนั่นเอง” นพ.ประกิต กล่าว

อย่างไรก็ตาม การสร้างเมืองปลอดควันบุหรี่ในประเทศไทยยังคงมีปัญหา เพราะแม้จะมีการออกกฎหมายการห้ามสูบบุหรี่ในพื้ยที่สาธารณะ แต่พบว่าการบังคับใช้กฎหมายนั้นยังทำได้ไม่เต็มที่

ศ.นพ.ประกิต ยอมรับว่า ประเทศไทยยังคงมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมายการห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ สาเหตุมาจากคนไทยมีอุปนิสัยอิสระเสรี พยายามหาทางหลบเลี่ยงกฎหมาย ยกตัวอย่าง การสวมหมวกกันน็อก หากเป็นประเทศเวียดนามพูดได้ว่า หมวกกันน็อกทำได้ 100% แต่ประเทศไทยทำได้เพียง 50% เพราะคนไทยชอบเลี่ยง พอเผลอก็ไม่ยอมทำตามกฎ เรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของประเทศไทย การห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะก็เช่นกัน โดยพบว่าสถานที่สาธารณะที่ห้ามสูบบุหรี่แต่กลับมีการฝ่าฝืนสูบบุหรี่มากที่สุด 3 อันดับ คือ ในตลาด สถานีขนส่ง และภัตตาคารที่ไม่ติดเครื่องปรับอากาศ สาเหตุน่าจะมาจากพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่สาธารณะที่ประกาศภายหลังว่าห้ามสูบบุหรี่ ซึ่งคนอาจจะไม่รู้ หรืออาจรู้แต่ไม่ปฏิบัติตาม เลยมักเจอการฝ่าฝืนจำนวนมาก

“ส่วนการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ก็ยอมรับว่ายังมีปัญหา เจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็ไม่สามารถปรับได้ ตำรวจจะต้องพาผู้ฝ่าฝืนไปโรงพัก ซึ่งบางทีกว่าตำรวจจะมา คนสูบบุหรี่ก็ไปแล้ว ซึ่งการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ได้มีการปรับปรุงภายใน ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. ... ซึ่งได้มีการปรับปรุงให้มีการบังคับใช้กฎหมายให้ง่ายขึ้น ไม่จำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจพาผู้กระทำผิดไปโรงพักเพื่อเสียค่าปรับ แต่จะใช้ระบบกล่าวโทษแบบงานจราจร คือ ตำรวจ เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เมื่อพบเห็นผู้กระทำผิด ฝ่าฝืนในพื้นที่ห้ามสูบ สามารถออกใบสั่งเพื่อให้ไปจ่ายค่าปรับได้ นอกจากนี้ ยังกำหนดให้เจ้าของสถานที่สาธารณะต้องรับผิดชอบดูแลสถานที่ของตนเองด้วย คือต้องมีการติดป้ายห้ามสูบ และมีการดูแลหากพบคนสูบบุหรี่ในสถานที่ของตัวเองต้องอธิบายและขอให้ไปสูบที่อื่น หากไม่ดำเนินการถือว่ามีความผิด ซึ่งจะช่วยให้เจ้าของสถานที่มีความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น” ศ.นพ.ประกิต กล่าว

เมื่อเปรียบเทียบการสร้างเมืองปลอดควันบุหรี่ของประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนนั้น จากการประชุมนานาชาติ เรื่อง เมืองอาเซียนปลอดบุหรี่ ครั้งที่ 4 ที่ จ.กระบี่ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีเมืองต้นแบบปลอดควันบุหรี่ต่าง ๆ ในประเทศอาเซียนมาร่วมแลกเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานสร้างเมืองปลอดควันบุหรี่ ซึ่งจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้นพบว่า การจะสร้างเมืองปลอดควันบุหรี่ที่สำเร็จได้นั้น ความสำคัญอยู่ที่ผู้นำต้องเห็นความสำคัญและเอาด้วยกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะเมืองดาเวา ประเทศฟิลิปปินส์

นายโฮเซ เอ็นริค การ์เซีย สมาชิกสภาเขต 2 เมืองบาทาน ประเทศฟิลิปปินส์ ในฐานะประธานเครือข่ายเมืองปลอดควันบุหรี่ของฟิลิปปินส์ เล่าว่า รัฐบาลท้องถิ่นมีการดำเนินงานรณรงค์ห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะอย่างเข้มข้น มีการติดป้ายประกาศห้ามสูบบุหรี่ชัดเจน และดึงประชาชนเข้ามาร่วม ทั้งเด็กนักเรียน เยาวชน พ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้นำท้องถิ่น สาถนศึกษา รวมกว่า 40,000 คน อย่างมหาวิทยาลัยก็มีการกำหนดห้ามสูบบุหรี่ในรัศมี 3 กิโลเมตรรอบมหาวิทยาลัย โดยพบว่าจากการเก็บภาษีบาปนั้น ช่วยลดอัตราการขายบุหรี่ลงถึง 82% และอัตราการขายเหล้าลดลง 32% ประเด็นสำคัญคือ ผู้นำท้องถิ่นต้องเอาจริงเอาจังและเข้าร่วมจึงจะสามารถลดการสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะได้

การดำเนินงานห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะล้วนไม่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ แต่การดำเนินการให้ได้ผลนั้นยังมีปัจจัยที่แตกต่างกันอยู่ โดย ศ.นพ.ประกิต อธิบายว่า ฟิลิปปินส์ค่อนข้างได้เปรียบ เพราะผู้นำท้องถิ่นอย่างนายกเทศมนตรีสามารถออกกฎบัญญัติได้เอง เพราะไม่มีผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ของประเทศไทยไม่สามารถทำได้ เพราะต้องผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดก่อน คือของเราอยู่ภายใต้ระบบราชการที่ยังขยับตัวทำอะไรได้ช้า แต่ฟิลิปปินส์ท้องถิ่นสามารถทำเองได้เลย

“อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีการออกกฎหมายห้ามสูบในพื้นที่สาธารณะแล้วเท่ากับมีกฎหมายรับรอง การที่แต่ละท้องถิ่นจะออกเทศบัญญัติได้นั้น จะต้องไม่ขัดกับกฎหมายใหญ่ที่มีอยู่ ซึ่งเมื่อมีกฎหมายห้ามสูบในพื้นที่สาธารณะแล้วก็สามารถออกเทศบัญญัติเพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังได้ ส่วนร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ที่จะมีการปรับปรุงเรื่องการบังคับใช้กฎหมายให้ทำได้ง่ายขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และส่งต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อ ซึ่งถ้าถูกบล็อกไม่ให้เข้าสู่การพิจารณา ล่าช้าไปอีก 1-2 เดือน อาจมีสิทธิตายทั้งกลมได้ เพราะหากไปถึงเดือน ก.พ.2560 แล้ว จะไม่มีสิทธิได้ออกเป็นกฎหมาย จึงอยากขอให้เห็นความสำคัญของประชาชนทั่วไป มากกว่ากำไรของบริษัทบุหรี่ที่กำไรปีละหมื่นกว่าล้านบาท” ศ.นพ.ประกิต กล่าว

หากอยากมี “ปอด” ที่สะอาด ปราศจากมลภาวะเป็นพิษ โดยเฉพาะควันบุหรี่ การสร้างเมืองปลอดควันบุหรี่จึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่ประเด็นสำคัญคือต้องบังคับใช้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะให้ได้อย่างจริงจังเสียก่อน!!


กำลังโหลดความคิดเห็น