รพ.ขุนหาญ จัด “รถเมล์สุขภาพ” กว่า 11 ปี ช่วยส่งต่อ “คนไข้ไม่ฉุกเฉิน” ไป รพ.ศรีสะเกษ เพิ่มการเข้าถึงการรักษา ลดผู้ป่วยเบี้ยวนัด เหตุเดินทางลำบาก ไม่มีเงิน ชี้ ผู้ป่วยร่วมจ่ายค่าเดินทางไปกลับคนละ 50 บาท ช่วยประหยัดกว่าเดินทางไปเอง หรือนั่งรถประจำทาง
นางเพ็ญศรี นรินทร์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ งานอุบัติเหตุฉุกเฉิน รพ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า กลุ่มคนไข้ไม่ฉุกเฉินของ รพ.ขุนหาญ ที่ต้องส่งต่อไปรักษาโรคเฉพาะทางที่ รพ.ศรีสะเกษ พบว่า ไม่เดินทางไปรักษามาถึงร้อยละ 13.48 จากคนไข้ไม่ฉุกเฉินที่ต้องส่งต่อทั้งหมด ซึ่งการไม่ไปรักษาต่อนั้น ภายหลังจะมีอาการหนักเพิ่มขึ้น เมื่อกลับมาตรวจที่ รพ.ขุนหาญ อีกครั้ง สาเหตุคือความไม่สะดวกในการเดินทาง ด้วย รพ.ขุนหาญ และ รพ.ศรีสะเกษ มีระยะทางห่างกันถึง 60 กิโลเมตร อีกทั้งคนไข้ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและยากจน บางคนไม่มีคนดูแล และไม่กล้าไปเอง จึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าถึงการรักษา จึงหาทางว่าจะทำอย่างไรถึงช่วยคนไข้กลุ่มนี้ให้เข้าถึงการรักษาได้ จึงมีแนวคิดว่าหากนัดคนไข้เหล่านี้ในวันเดียวกันและจัดหารถรับส่งไปยัง รพ.ศรีสะเกษ ได้หรือไม่ จึงเป็นที่มาของ “โครงการรถเมล์สุขภาพ”
“โครงการนี้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2547 โดยช่วงแรกขอใช้รถของ รพ.ขุนหาญ ไปรับส่งก่อน แต่เนื่องจากรถ รพ. มีเพียงแค่ 3 คันเท่านั้น กรณีที่มีผู้ป่วยฉุกเฉินทำให้มีปัญหา จึงได้จัดทำข้อมูลความคุ้มทุนของงบประมาณในการจัดรถรับส่งคนไข้จากงบ CEO จังหวัดศรีสะเกษ ได้รับงบดำเนินการจัดรถรับส่งคนไข้ตลอดทั้งปีจำนวน 2.6 แสนบาท ต่อมางบ CEO ได้หมดลง และยังหางบไม่ได้ ในฐานะที่เป็นคนพาคนไข้เดินทางไป รพ.ศรีสะเกษ จึงพูดคุยกับคนไข้ว่างบจัดรถรับส่งคนไข้ได้หมดลงแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ถ้าเราจะช่วยกันออกเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อจ้างรถรับส่งกันเอง ปรากฏว่า คนไข้ต่างยินดี นับจากวันนั้นมาจนถึงวันนี้ค่าใช้จ่ายในการจัดรถรับส่งคนไข้จาก รพ.ขุนหาญ เพื่อรับการรักษายัง รพ.ศรีสะเกษ หรือที่เรียกว่า รถเมล์สุขภาพ จึงมาจากการร่วมจ่ายของคนไข้เองทั้งหมด โดยคิดค่าบริการไปกลับครั้งละ 50 บาท” นางเพ็ญศรี กล่าว
นางเพ็ญศรี กล่าวว่า การนำคนไข้จาก รพ.ขุนหาญ รับการรักษาส่งต่อที่ รพ.ศรีสะเกษ โดยรถเมล์สายสุขภาพ จะนัดคนไข้ทุกวันพุธเวลา 7 โมงเช้า รถออกในเวลา 8 โมงเช้า เฉลี่ยเที่ยวละประมาณ 30 คน โดยก่อนหน้านี้ พยาบาลจะประสานข้อมูลส่งต่อคนไข้กับแผนกต่าง ๆ ของ รพ.ศรีสะเกษ ไว้ก่อน ทั้งข้อมูลประวัติคนไข้ บัตรคิวรับการตรวจ ซึ่ง รพ.ศรีสะเกษ ดูแลให้เป็นอย่างดี มีการจัดคิว จัดแฟ้มข้อมูลคนไข้ไว้ให้ เมื่อรถเมล์สายสุขภาพไปถึงคนไข้ก็จะเข้ารับการตรวจยังแผนกต่าง ๆ ที่ประสานไว้ โดยในส่วนคนไข้ที่ซับซ้อนที่ต้องทำการตรวจอัลตราซาวนด์ หรือ เอกซเรย์ รพ.ศรีสะเกษ จะทำให้คราวเดียว เพื่อไม่ให้คนไข้ต้องเดินทางกลับมาอีก ทำให้เกิดความสะดวกและรวดเร็ว หลังดำเนินโครงการ ทำให้คนไข้เข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น ปัจจุบันคนไข้ที่ส่งต่อไปยัง รพ.ศรีสะเกษ มีการเข้าถึงเกือบ 100% ขณะที่จำนวนคนไข้ที่ไม่ไปตรวจตามนัดลดลงจนเหลือเกือบศูนย์ เพิ่มการเข้าถึง ลดการรอคิวการรักษาโรคตา จากการที่ รพ.ศรีสะเกษ มีจักษุแพทย์น้อย
“รถเมล์สายสุขภาพที่สามารถดำเนินโครงการมาจนถึงวันนี้ เกิดจากการมีส่วนร่วมของชาวบ้านโดยแท้จริง ซึ่งชาวบ้านเป็นผู้ร่วมจ่ายทั้งหมด และจากการที่พยาบาลเป็นผู้นำส่งคนไข้ ทำให้มีการพูดคุยกับคนไข้จนเกิดความใกล้ชิด สามารถดึงให้มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพ เกิดความตระหนักต่อการส่งเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันมากขึ้น นำไปสู่ความยั่งยืนของระบบสุขภาพได้ ส่วนในแง่ของค่าเดินทางสามารถประหยัดได้ปีละกว่า 1 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับการที่คนไข้เหมารถเพื่อเดินทางไป รพ.ศรีสะเกษ เอง รวมถึงการเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทาง” นางเพ็ญศรี กล่าวและว่า นอกจากนี้ จะมีการใช้รูปแบบโครงการรถเมล์สายสุขภาพในการส่งคนไข้ที่มีความซับซ้อนไปยัง รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็น รพ.แม่ข่าย โดยเทศบาล และ อบต. อยากมีส่วนร่วม ซึ่งอยู่ระหว่างการวางระบบและประสานไปยัง รพ. แม่ข่าย เพื่อให้บริการในปี 2560
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่