กมธ.ศึกษาฯ สนช. เตรียมหารือรับน้องเคส “น้องบอส” จมน้ำ หาแนวทางป้องกันแก้ไขจัดกิจกรรมไม่สร้างสรรค์ ขู่ออกกฎกระทรวงคุมเข้ม หลังประกาศ สกอ. บังคับใช้ไม่จริงจัง ด้าน ผอ.บ้านกาญจน์ จี้ สร้างกระบวนการเยียวยายกระดับนโยบาย
วันนี้ (14 ก.ย.) นายตวง อันทะไชย ประธานกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณี นายโชคชัย ทองเนื้อขาว หรือ น้องบอส อายุ 19 ปี นิสิตชั้นปีที่ 1 คณะพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา เข้าร่วมกิจกรรมกับรุ่นพี่และเกิดเหตุจมน้ำ จนปอดติดเชื้อ ซึ่งขณะนี้อาการดีขึ้นแล้ว ว่า วันที่ 15 ก.ย. กรรมาธิการฯ เตรียมนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมเพื่อหารือแนวทางการป้องกันแก้ไข สร้างบรรทัดฐานในการจัดกิจกรรมของสถาบันต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงซ้ำอีก ซึ่งจะต้องหาจุดที่บกพร่องและความชัดเจนของประกาศสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่มีอยู่ก่อนแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมามีการบังคับใช้ไม่จริงจังต่อเนื่อง ซึ่ง สกอ. และสภานิสิตนักศึกษา ผู้บริหารต้องเข้มงวด จริงจังมากกว่านี้ อะไรที่ส่อไปในทางละเมิดสิทธิ หรือผิดกฎหมายก็ต้องงดเว้นเด็ดขาด
“หากยังมีกิจกรรมที่ไม่สร้างสรรค์แบบนี้อีก คงต้องยกระดับออกเป็นกฎกระทรวง เพื่อคุมเข้มป้องกันไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีก ซึ่งเข้าใจเจตนาของการรับน้อง หรือทำกิจกรรมเพื่อให้เกิดความรักสามัคคีในสถาบัน แต่ต้องต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย” นายตวง กล่าว
ด้าน นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า หลายปีกิจกรรมทั้งภายในและนอกรั้วมหาวิทยาลัย มีบางกิจกรรมที่รุนแรงไม่สร้างสรรค์ ดังนั้นขอเรียกร้องให้สถาบันต่างๆประกาศจุดยืนการรับน้องหรือกิจกรรมอื่นใดที่ไม่รุนแรงในทุกรูปแบบ ชี้ให้เห็นว่ามีผลทางกฎหมาย อย่างกรณีที่น้องบอสที่ฟื้นขึ้นมาต้องขวัญหายไปหลายวัน พ่อแม่แทบใจสลาย และแม้จะไม่ติดใจรุ่นพี่ หรือมหาวิทยาลัยแต่คนที่ถือกฎหมาย เจ้าหน้าที่ของรัฐกำลังทำอะไรกันอยู่มีกฎหมายถือกฎหมายแต่ไม่ใช้ เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ต้องเกิดซ้ำซาก จุดอ่อนคือ การบังคับใช้กฎหมาย หรือละเว้น ไม่จริงจังแก้ปัญหาไม่ชัดเจน ที่สำคัญ มหาวิทยาลัยต้องเป็นแบบอย่างแสดงความกล้าหาญ มีจริยธรรม ไม่ปกปิดบิดเบือน เพราะนั่นจะเป็นการสอนเด็กให้สร้างพื้นที่สีเทา เหตุการณ์ครั้งนี้จะเป็นบทเรียนสำคัญให้กับรุ่นพี่ไม่ให้ส่งต่อความรุนแรงนี้อีก
“มหาวิทยาลัยควรมีกระบวนการเยียวยาผู้ถูกกระทำให้ชัดเจน และรวมไปถึงผู้ก่อเหตุซึ่งไม่ควรละเลย ต้องมีกระบวนการช่วยเหลือเยียวยาเช่นกัน หากทำความเข้าใจและสามารถเห็นบทเรียนที่ก้าวพลาดของตัวเอง สามารถบอกกับสังคมได้ถึงบทเรียนนี้ จะเป็นทางหนึ่งที่ทำให้ผู้กระทำและอาจรวมไปถึงครอบครัวที่กำลังทุกข์ใจ ไม่จมอยู่กับความทุกข์ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแล้วควรให้คำมั่นว่าจะไม่เดินซ้ำรอยเดิมอีก และจะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมให้ดีขั้นได้อย่างไร เชื่อได้ว่า ไม่มีใครอยากให้เกิดแบบนี้ขึ้น ในส่วนที่ต้องเยียวยาน้องผู้กระทำก็ต้องให้ความสำคัญด้วย ย้ำอีกครั้งว่าปัญหานี้ป้องกัน แก้ได้ อยู่ที่การยอมรับความจริงและแก้ไขมันอย่างจริงจัง ที่สำคัญ นโยบายต้องถูกยกระดับ” นางทิชา กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่