xs
xsm
sm
md
lg

คกก.ยาเร่งหารือกำหนดวันเดดไลน์ ทุกร้านขายยาต้องมี “เภสัชกร”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการ อย.
อย. ค้านชมรมร้านขายยาฯ ขอเลื่อนเวลาหาเภสัชกรประจำร้าน ถึงปี 65 ชง คกก. ยา เร่งหารือทุกฝ่าย พร้อมใช้ผลการศึกษาเกณฑ์ปรับปรุงร้านยา 3 ระยะของจุฬาฯ หาข้อสรุปวันเดดไลน์

จากกรณีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกกฎกระทรวงการขออนุญาตและการขอใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน พ.ศ. 2556 กำหนดให้ร้านขายยาเก่าปรับปรุงร้านให้ได้ตามเกณฑ์วิธีปฏิบัติที่ดีทางเภสัชกรรม (Good Pharmacy Practice : GPP) ภายใน 8 ปี แบ่งเป็น 3 ระยะ โดยชมรมร้านขายยาแห่งประเทศไทย และสมาคมร้านขายยา ทำหนังสือถึงเลขาธิการ อย. ขอให้เลื่อนเกณฑ์การหาเภสัชกรประจำร้านออกไปเป็นระยะสุดท้าย คือ ปีที่ 8 หรือภายในวันที่ 25 มิถุนายน 2565 จนมีเภสัชกรบางกลุ่มออกมาคัดค้านนั้น

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการ อย. และโฆษก อย. กล่าวถึงเรื่องดังกล่าว ว่า การต้องมีเภสัชกรประจำร้านเพื่อให้คำแนะนำที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้ยาแก่ผู้ป่วย ถือเป็นหนึ่งในเกณฑ์ GPP ที่ทุกร้านต้องปฏิบัติตาม โดยร้านขายยาที่เปิดใหม่ต้องทำตามทันที ส่วนร้านขายยาที่เปิดมาก่อนหน้านี้ก็ให้ระยะเวลาในการปรับปรุงให้ได้ตามเกณฑ์ภายใน 8 ปี ซึ่งขณะนี้มีความเห็นแตกต่างเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก อาทิ ชมรมร้านขายยาแห่งประเทศไทย อยากให้การมีเภสัชกรประจำร้านเป็นเกณฑ์ที่จะต้องทำให้ได้ในช่วงระยะสุดท้าย คือ 8 ปีตามที่กำหนด ส่วนอีกกลุ่ม เช่น สภาเภสัชกรรม เภสัชเพื่อมวลชน อยากให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพราะถือเป็นการคุ้มครองประชาชน ซึ่งแต่ละฝ่ายก็มีเหตุผล จึงต้องหาจุดกึ่งกลางที่เหมาะสม เพราะหากจะบังคับให้หาเภสัชกรประจำร้านทันทีเลยก็คงเป็นไปไม่ได้ ก็ต้องให้เวลาในการปรับปรุงด้วย แต่จะประวิงเวลาไปจนครบ 8 ปี ก็คงไม่ใช่เช่นกัน แต่จะกำหนดทุกร้านต้องทำให้ได้ในช่วงไหนก็ต้องมาหารือกันในคณะกรรมการยาว่าจะกำหนดว่าต้องมีเภสัชกรประจำร้านในปีไหน ซึ่งคาดว่าจะมีการหารือในเร็ว ๆ นี้

ผู้สื่อข่าวถามว่าก่อนหน้านี้มีการแบ่งระยะเวลาในการปรับปรุงร้านออกเป็น 3 ระยะ ว่า ต้องปรับปรุงเรื่องใดบ้าง ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า การแบ่งระยะเวลาปรับปรุงร้านขายยาออกเป็น 3 ระยะนั้น เป็นเพียงผลการศึกษาของทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า ความเป็นไปได้และแต่ละช่วงร้านขายยาควรปรับปรุงเรื่องใดให้แล้วเสร็จบ้างเท่านั้น โดยผลการศึกษาระบุว่า การหาเภสัชกรประจำร้านควรปรับปรุงให้แล้วเสร็จในช่วงระยะเวลาที่ 2 ซึ่งการหารือในคณะกรรมการยาก็จะนำผลการศึกษาดังกล่าวเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วย พร้อมกับความคิดเห็นจากทั้ง 2 ฝ่าย แต่ที่สำคัญคือ จะพิจารณาถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก

“การขายยาในกลุ่มยาอันตรายจะต้องมีเภสัชกรปฏิบัติหน้าที่ แต่ร้านขายยาไม่ได้ขายแต่เพียงยาอันตรายเท่านั้น ยังมียาอย่างอื่นด้วย เช่น ยาทาภายนอก ยาบรรจุเสร็จ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเภสัชกรในการขาย ประกอบกับที่ผ่านมาเภสัชกรมีน้อย จึงกำหนดให้ร้านขายยาต้องแจ้งเวลาปฏิบัติงานของเภสัชกร ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง เช่น 17.00 - 20.00 น. เป็นต้น แต่ปัญหาคือ ไม่มีคนคอยตรวจสอบว่า มีการขายยาอันตรายนอกเวลาปฏิบัติงานหรือไม่ เพราะอ้างได้ว่าขายยาตัวอื่นที่ไม่ใช่ยาอันตราย ซึ่งหลักเกณฑ์ของ GPP ที่จะมีการหารือกัน ก็คือ กำหนดให้ระยะเวลาปฏิบัติงานของเภสัชกรคือ ตั้งแต่เปิดร้านถึงปิดร้าน แต่หากช่วงใดที่เภสัชกรไม่อยู่ร้านก็ต้องมีการแสดงให้เห็นชัดเจนว่าจะไม่มีการขายยาอันตราย เช่น การติดป้ายว่าไม่มีเภสัชกรอยู่ร้าน หรือมีการติดอุปกรณที่จะบังในส่วนของการขายยาอันตราย เป็นต้น” ภก.ประพนธ์ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น