xs
xsm
sm
md
lg

ลัทธิเอาอย่างจากปรากฏการณ์โปเกมอน โก!/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ทีแรกว่าจะไม่เขียนถึงเรื่องนี้แล้ว แต่กระแสก็ฉุดไม่อยู่จริง ๆ กับเกมโปเกมอน โก (Pokemon go) ดิฉันลองถามลูกชายวัยรุ่นว่าไม่อยากเล่นโปเกมอน โก กับเค้าบ้างเหรอ คนเล่นเต็มบ้านเต็มเมือง

เจ้าลูกชายคนโตตอบว่า ไม่อยากเล่นครับ แต่เพื่อน ๆ ส่วนใหญ่เล่น บางทีก็รำคาญเหมือนกัน เดิน ๆ อยู่ด้วยกัน เดี๋ยวเพื่อนก็บอกว่าให้หยุดรอ ขอไปจับเจ้าโปเกมอน อย่างวันก่อนไปย่านสยามสแควร์กับเพื่อน สังเกตได้ชัดเลยว่ามีคนจับโปเกมอนอยู่แถว ๆ ลานน้ำพุหน้าห้างสรรพสินค้าย่านนั้นเยอะมาก
แล้วลูกคิดอย่างไร?

เขาตอบว่า “คิดว่าก็เป็นแค่กระแสเท่านั้น เดี๋ยวมันก็เงียบไปเอง”

เห็นจะจริงตามนั้น จำได้ว่าเห็นข่าวเกมโปเกมอน โก ในต่างประเทศที่สุดฮิตเหลือเกิน ก็เดาเอาตั้งแต่ครั้งนั้นแล้วว่าถ้ามันเข้ามาในเมืองไทยเมื่อไหร่ก็ถล่มทลายเมื่อนั้น

และเมื่อมันเข้ามา กระแสก็ลุกโชนเชียว ตอนนี้ระหว่างเดิน ๆ อยู่ไม่ว่าที่ไหนก็ตาม ลองสังเกตดูรอบข้างตัวก็ได้ ว่า จะต้องเห็นคนตามจับเจ้าโปเกมอนโกอย่างแน่นอน

จะว่าไปหลายครั้งที่สังคมไทยมีปรากฏการณ์เยี่ยงนี้!!

เวลามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดความนิยมแล้วมักจะแห่ตาม ๆ กัน เช่น ยุคที่มีการเลี้ยงเกมทามาก็อตจิ ก็เกิดเป็นกระแสไปทั่ว, เกมจีทีเอ หรือตุ๊กตาบาร์บี้ เพียงแต่ยุคนั้นยังไม่มีโซเชี่ยลมีเดีย หรือมีก็ยังไม่มากเท่าทุกวันนี้ กระแสก็เลยไม่เปรี้ยงปร้างออกสื่อเป็นข่าวพาดหัวตัวไม้เท่ายุคนี้ที่เรื่องสื่อสารมันอยู่แค่ปลายนิ้
หรือถ้าขยับมาเมื่อไม่นานนี้ก็มีกระแสเรื่อง “ลูกเทพ” ที่มาแรงจริง ๆ แม้จะมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จนแทบจะทะเลาะเบาะแว้งกันก็มี

แต่สุดท้าย เรื่องเหล่านี้ก็ค่อย ๆ เงียบหายไป

คำถามที่ตามมาก็คือ ทำไมเวลามีกระแสอะไรเข้ามา แล้วผู้คนในบ้านเรามักแห่ตามกระแสไปกับเขาได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย

และคนที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ก็คือ เด็กและเยาวชนในบ้านเราที่มักตกเป็นเหยื่อของกระแสอยู่เสมอ
พ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงผู้ใหญ่ในสังคมก็มักเพ่งเล็ง และมักต่อว่าเด็กและเยาวชนว่าทำตัวไร้สาระ เล่นอะไรก็ไม่รู้ และอีกสารพัดที่จะก่นและบ่นลูกหลานของตัวเอง

ความจริงก็ต้องถามผู้ใหญ่เหมือนกันว่าทำไมลูกหลานของเราพร้อมที่จะตกเข้าไปอยู่ในกระแสทุกครั้งที่มีอะไรฮิต ๆ ขึ้นมา เป็นเพราะอะไร?

ลูกเล่นเกมไม่ใช่เรื่องไม่ดี ลูกตกเข้าไปในกระแสยอดฮิตตามสังคม ก็ไม่ใช่ว่าไม่ดี เพียงแต่สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรเติมให้ลูก คือ ทักษะการเล่นที่พอดี เล่นแบบรู้กาลเทศะ เล่นแบบรู้ว่าควรหรือไม่ควร แยกแยะได้ว่าควรเล่นเมื่อไหร่ เวลาไหน และไม่เป็นโทษกับตัวเองและผู้อื่น

เรื่องห้ามไม่ให้ลูกเล่น ไม่ใช่วิธีที่จะเอาลูกอยู่ แต่ควรทำให้เขารู้และแยกแยะให้ได้

ถ้าลูกยังเล็กก็ต้องมีการวางกรอบกติกาให้เหมาะสม ทั้งเวลาในการเล่น เกมที่เล่น เป็นเรื่องที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องเป็นผู้มีส่วนร่วมในการกำหนด และวางรากฐานให้ดี ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดปัญหา แล้วมาถามหาวิธีแก้ปัญหา เพราะนั่นย่อมแก้ได้ยากกว่าอย่างแน่นอน

วิธีที่น่าจะได้ผล ก็คือ ความรักความเอาใจใส่ ที่ต้องมาพร้อมความรู้ที่เหมาะสมกับช่วงวัยของลูกด้วย

ทางที่ดีพยายามชวนให้ลูกมีกิจกรรมอื่น ๆ ด้วย ซึ่งปัจจุบันนี้ก็มีกิจกรรมมากมาย เช่น ชวนลูกเล่นกีฬา ส่วนใหญ่ครอบครัวไหนที่พ่อแม่เล่นกีฬา และปลูกฝังลูกเรื่องกีฬา มักไม่มีปัญหาเรื่องลูกติดเกม

เคยมีกรณีตัวอย่างของ “คลินิกบำบัดอาการติดเกม” ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดย คีธ บาคเกอร์ ชาวอเมริกันผู้ก่อตั้งคลินิก เปิดเผยว่า “คนที่ติดเกมส่วนใหญ่ไม่มีความสามารถในการควบคุมตัวเองได้ดีเพียงพอ ส่วนเด็ก ๆ นั้น สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการไม่มีความสุขที่โรงเรียน ไม่มีความสุขกับตัวเอง และสภาพชีวิตที่เป็นอยู่ ทำให้พวกเขาหันไปใช้เวลาส่วนใหญ่ในโลกของเกมคอมพิวเตอร์ที่พวกเขาควบคุมได้ทุกอย่าง และทำอะไรก็ได้อย่างที่ต้องการ”

เราคงไม่อยากให้ลูกหลานของเราที่เล่นเกม หรือตกอยู่ในกระแสใด ๆ ก็เพราะเกิดจากปัญหาเหล่านี้มิใช่หรือ เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่คนเป็นพ่อแม่ต้องทำความเข้าใจ และปลูกฝังให้ลูกมีภูมิต้านทานชีวิตที่เหมาะสม เพราะต่อให้มีกระแสอะไรทะลักเข้ามามากมาย แต่พวกเขาก็จะสามารถรับมือได้

พลันทำให้นึกถึงพระราชนิพนธ์ “ลัทธิเอาอย่าง” ของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 6 ภายใต้พระนามแฝง “อัศวพาหุ” ทรงกล่าวไว้ว่า การเอาอย่างแม้ว่าจะมีคุณค่าอยู่บ้างแต่ในขณะเดียวกันก็มีโทษอย่างน้อย 3 ประการ คือ การเอาอย่างจะเป็นข้อตัดรอนความคิดริเริ่ม, การเอาอย่างเป็นองค์แห่งความเป็นทาส และการเอาอย่างเป็นเหตุทําให้เสียเวลาเพราะจะต้องรอให้มีผู้อื่นเริ่มก่อนจึงจะกระทําตาม

เราคงไม่อยากให้ลูกของเราเป็นพวกลัทธิเอาอย่างมิใช่หรือ !!

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น