xs
xsm
sm
md
lg

แม่บ้าน-คนงานช่าง เสี่ยง “นิ้วล็อก” เจ็บฐานนิ้วอาการแรกบ่งบอก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แม่บ้าน - คนงานช่าง เสี่ยงนิ้วล็อก เหตุใช้นิ้วมือมาก ปลอกหุ้มเอ็นขาดความยืดหยุ่น ชี้ เจ็บฐานนิ้วอาการเริ่มแรกบ่งบอก แนะพักการใช้งานมือ แช่น้ำอุ่น กินยาลดการอักเสบ แนะวิธีป้องกันและรักษา

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคนิ้วล็อก เป็นโรคที่พบบ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และพบมากในช่วงอายุ 40 - 50 ปี ผู้ป่วยจะมีอาการเริ่มต้นเจ็บบริเวณฐานนิ้ว ขยับนิ้วมือเจ็บ การงอ และการเหยียดนิ้วฝืด สะดุด จนเกิดอาการล็อก เหยียดนิ้วไม่ออก หรืองอนิ้วไม่เข้า นิ้วแข็งบวมชา นิ้วเกยกัน กำมือไม่ลง นิ้วโก่งงอ หากไม่ได้รับการรักษา นิ้วข้างเคียงก็จะยึดติดแข็งจนใช้งานไม่ได้ สาเหตุเกิดจากการใช้งานของมืออย่างรุนแรง เช่น การบีบกำ หิ้วของหนักซ้ำ ๆ จนปลอกหุ้มเอ็นบวมหดรัด ขาดความยืดหยุ่น เป็นผลให้เส้นเอ็นเคลื่อนตัวผ่านปลอกเอ็นไม่สะดวก กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนอื่น ๆ คือ ผู้ที่ใช้มือในลักษณะเกร็งนิ้วบ่อย ๆ เช่น แม่บ้านที่หิ้วถุงพลาสติกหนัก ๆ หิ้วถังน้ำซักบิดผ้า กำมือสับหมูหรือไก่ รวมทั้งผู้ที่มีอาชีพในลักษณะที่ใช้งานนิ้วมือมาก ๆ เช่น คนทำสวนที่ใช้กรรไกร มีด ตัดหรือฟันกิ่งไม้ ใช้จอบ เสียม ขุดดิน คนขายของหิ้วสินค้าเดินเร่ขาย ช่างไฟฟ้า ช่างโทรศัพท์ ช่างก่อสร้าง ช่างไม้ ช่างปูน ช่างตัดเสื้อผ้า ช่างทำผม ช่างเจียระไนพลอย คนส่งน้ำขวด คนส่งแก๊ส คนทำขนม นวดแป้งและซาลาเปา พนักงานธนาคาร ที่หิ้วถุงเหรียญหนัก ๆ เป็นประจำ นักกอล์ฟ นักแบดมินตัน หมอฟัน นักเขียน ครู นักบัญชี อาชีพเหล่านี้ควรต้องระวังเป็นพิเศษ

“การรักษาโรคนิ้วล็อก ในระยะแรกหากผู้ป่วยมีอาการเพียงเจ็บฐานนิ้ว ควรพักการใช้งานมือที่รุนแรง แช่น้ำอุ่นรับประทานยา เพื่อลดการอักเสบ ลดบวม ลดปวด กายภาพบำบัด ด้วยการใช้เครื่องดามนิ้วมือ นวดเบา ๆ ใช้ความร้อนประคบ ออกกำลังกายเหยียดนิ้ว ฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่เป็นการรักษาแบบชั่วคราว และมีข้อจำกัดคือไม่ควรฉีดยาเกิน 2 - 3 ครั้ง ต่อ 1 นิ้วที่เป็นโรค สำหรับผู้ป่วยที่เป็นในระยะรุนแรงมีอาการยึดติดที่รุนแรงหรือนิ้วติดล็อกจำเป็นต้องผ่าตัด เพื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้อง” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

นพ.สุพรรณ กล่าวว่า โรคนิ้วล็อกเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ ด้วยการระมัดระวังการใช้งานของนิ้วมืออย่างถูกสุขลักษณะ จะสามารถช่วยป้องกันการบาดเจ็บของปลอกหุ้มเอ็นและนิ้วล็อกได้ โดยควรปฏิบัติ ดังนี้ ไม่หิ้วถุงหรือตะกร้าหนัก ๆ ใช้วิธีการอุ้มประคองแทน ไม่ควรบิดผ้า/ซักผ้าด้วยมือจำนวนมาก ๆ ใส่ถุงมือหรือห่อหุ้มด้ามจับเวลาใช้อุปกรณ์ช่าง ไม่กำหรือบีบเครื่องมือนาน ๆ ใช้รถเข็นของที่หนัก และใช้เครื่องทุ่นแรงแทนการหิ้วหรือยก นอกจากนี้ ควรกายภาพมือง่าย ๆ ก่อนที่นิ้วจะล็อก โดยยืดกล้ามเนื้อแขน มือ นิ้วมือ โดยยกแขนระดับไหล่ ใช้มือข้างหนึ่งดันให้ข้อมือกระดกขึ้น - ลง ปลายนิ้วเหยียดตรงค้างไว้ นับ 1 - 10 แล้วปล่อย ทำ 6 - 10 ครั้ง/เซต บริหารมือ นิ้วมือ โดยฝึกกำ - แบ เพื่อเพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อนิ้วมือ และกล้ามเนื้อมือ หรืออาจถือลูกบอลในฝ่ามือก็ได้ โดยทำ 6 - 10 ครั้ง/เซต เพิ่มกำลังกล้ามเนื้อที่ใช้งอ - เหยียดนิ้วมือ โดยใช้ยางยืดช่วยต้าน แล้วใช้นิ้วมือเหยียดอ้านิ้วออก ค้างไว้ นับ 1 - 10 แล้วค่อยๆปล่อย ทำ 6 - 10 ครั้ง/เซต หากปฏิบัติตามข้อแนะนำดังกล่าวจะสามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคนิ้วล็อกและทำให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น