ไทยขาดแคลนภัณฑารักษ์ด้านศิลปะหนัก พบผู้เชี่ยวชาญไม่ถึง 10 คน ทำให้ผลงานศิลปินไทยไม่เป็นที่รู้จัก สศร. ระดมสมองกูรู เพิ่มศักยภาพ
นายชาย นครชัย ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กล่าวว่า สศร. จัดโครงการสัมมนาและปฏิบัติการทางวิชาการ “บ่มเพาะภัณฑารักษ์” เพื่อผลักดันผลงานศิลปะร่วมสมัยสู่ระดับสากล ซึ่งปัจจุบันไทยมีศิลปินและผู้ที่สนใจด้านวงการศิลปะร่วมสมัยในแขนงต่าง ๆ และมีการสร้างสรรค์งานที่ทรงคุณค่าเพิ่มมากขึ้น แต่ยังไม่มีการพัฒนางานด้านภัณฑารักษ์ ทำหน้าที่บริหารจัดการองค์รวมของงานศิลปะอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ผลงานของศิลปินไม่เป็นที่รู้จัก อีกอย่างภัณฑารักษ์มีน้อยมากเรียกว่าขั้นขาดแคลน ดังนั้น สศร. เริ่มนำร่องจัดการอบรมภัณฑารักษ์เป็นครั้งแรกของไทย โดยร่วมกับคณะ ศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดอบรมสร้างภัณฑารักษ์รุ่นใหม่เพื่อยกระดับงานของ ศิลปินไทยเป็นที่ยอมรับสู่ระดับสากล
“การจัดอบรมครั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 100 คน โดย สศร. ได้รับความร่วมมือจากภัณฑารักษ์ระดับโลก รวมถึงศิลปินร่วมสมัยชั้นนำของประเทศไทย มาร่วมให้ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานร่วมกัน โดยหลังจากเสร็จสิ้นการฝึกอบรมครั้งนี้ จัดมีการจัดทำทะเบียนเครือข่ายภัณฑารักษ์ท้องถิ่นจัดกิจกรรมเผยแพร่องค์ความ รู้อย่างต่อเนื่อง โดยคาดหวังให้ผู้เข้าอบรมได้ไปพัฒนางาน และคัดเลือกศิลปินในภูมิภาคของตน เองถ่ายทอดงานให้เป็นที่รู้จักในระดับชาติ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการคัดเลือก ศิลปินไทยไปจัดแสดงในเวทีโลกที่มีชื่อเสียง เช่น งานเวนิสเบียนาเล่ เป็นต้น” นายชาย กล่าว
ด้าน รศ.ดร.ศุภกรณ์ ดิษฐพันธุ์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเรียนรู้แขนงภัณฑารักษ์ในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยของไทยยังอยู่ในวงจำกัด คือ มีเพียงไม่กี่แห่งที่สอนให้ผู้เรียนเข้าใจบริบทของภัณฑารักษ์ ซึ่งงานภัณฑารักษ์ไม่ใช่เพียงการเก็บรักษาของในหอศิลป์ หรือพิพิธภัณฑ์เพียงอย่างเดียว ยังมีงานที่ต้องการการสื่อสารผลงานของศิลปะให้คนทุกกลุ่มวัยได้เข้าใจ จากการสำรวจพบว่า ประเทศไทย หอศิลป์ เพิ่มมากขึ้นทั้งของรัฐและเอกชน แต่ภัณฑ์รักษ์ที่มีประสบการณ์เฉพาะด้านของไทยมีไม่ถึง 10 คน ที่ผ่านงานในระดับนานาชาติ จุดนี้จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ศิลปินไทยยังไม่เป็นที่รู้จักในระดับโลก แม้ว่าศิลปินไทยจะมีผลงานที่โดดเด่นในหลายสาขา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ทำให้ต่างชาติไม่ได้เห็นศักยภาพของคนไทย
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่