15 ชาติเตรียมออกกฎซองบุหรี่แบบเรียบ พร้อมเสนอเทคนิคเตรียมข้อมูล ผลการศึกษา ยันไม่ได้เป็นการเวนคืนสิทธิในเครื่องหมายการค้า
ผศ.ดร.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ปรึกษาสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นการเข้าร่วมประชุมปฏิบัติการออกกฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบระหว่างวันที่ 7 - 9 มิถุนายน 2559 ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยมีผู้แทน 15 ชาติจากทุกทวีป รวมทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ และ ไทย เข้าร่วมประชุม ว่า ที่ประชุมมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลประเด็นทางนโยบายและกฎหมายของประเทศที่เตรียมใช้กฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบ โดยผู้แทนจากองค์การอนามัยโลก นำเสนอข้อมูลด้านต่าง ๆ เนื่องจากซองบุหรี่แบบเรียบเป็นหนึ่งในข้อกำหนดของกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบ (FCTC) ของ WHO ส่วนออสเตรเลียและอังกฤษเป็นประเทศที่ใช้กฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบแล้ว และต่างโดนธุรกิจยาสูบฟ้องคดีทั้งศาลในประเทศ และระหว่างประเทศมาแล้ว
ผศ.ดร.เอื้ออารีย์ กล่าวว่า ที่ประชุมมีการนำเสนอเทคนิคการเตรียมข้อมูลซองบุหรี่แบบเรียบ รูปแบบซองที่ควรเลือกใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ผลการศึกษาทางสถิติด้านต่าง ๆ หลังมาตรการนี้ออกใช้ในออสเตรเลีย รวมถึงประเด็นข้อโต้แย้งทางคดีทั้งระดับรัฐธรรมนูญ ทรัพย์สินทางปัญญา และข้อตกลงระหว่างประเทศด้านการค้า โดยได้เสนอรายละเอียดในคดีที่ศาลออสเตรเลียวินิจฉัยไว้ว่า กฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบไม่ได้เป็น “การเวนคืน” สิทธิในเครื่องหมายการค้า โดยศาลได้ยืนยันว่าสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญมีขึ้นเพื่อคุ้มครอง “สิทธิในความเป็นมนุษย์” มิได้มีหน้าที่ต้องคุ้มครอง “ผลประโยชน์” ของกลุ่มธุรกิจ
ส่วนกรณีของอังกฤษ กลุ่มธุรกิจได้ยกเรื่องสิทธิในทรัพย์สินตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหภาพยุโรป และกฎหมายที่เกี่ยวข้องขึ้นต่อสู้ รวมทั้งเรียกร้องค่าเสียหายจากการที่ทรัพย์สิน (เครื่องหมายการค้า) ของตนถูกรัฐห้ามใช้จนลดทอนคุณค่าและมูลค่าที่สร้างขึ้น แต่ศาลได้ยกฟ้องโดยมีความเห็นว่า สาระอย่างหนึ่งของเครื่องหมายการค้า คือ การโฆษณา กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญามิได้มีลักษณะเป็นสุญญากาศ แต่เป็นส่วนหนึ่งที่มีพันธะ ในทางกฎหมายและต่อสังคม หัวใจของสิทธิในเครื่องหมายการค้า คือ การยกเว้นบุคคลอื่น ๆ มิให้มาใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าของตน แต่มิใช่การที่ผู้เป็นเจ้าของต้องแสดงหรือใช้สิทธิ (positive right) นั้น ๆ เสมอไป
“ความเห็นของศาลอังกฤษและออสเตรเลียสร้างความชัดเจน ว่า มาตรการซองบุหรี่แบบเรียบ ไม่ขัดกับหลักความได้สัดส่วน ระหว่างประโยชน์สาธารณะและประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจ ถือเป็นการตอกย้ำความมั่นใจในทางข้อกฎหมายให้กับอีกหลาย ๆ ประเทศในการเดินหน้าออกกฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบต่อไป” ดร.เอื้ออารีย์ กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่