เปิดผลสำรวจพฤติกรรมนักพนันบอลรุ่นเยาว์ 16.5% คิดเล่นพนันทายผลบอลยูโร 2016 เหตุสะดวก เข้าถึงง่าย สื่อมีอิทธิพลสูง อึ้ง! เกินครึ่งไม่กลัวถูกจับ และไม่เคยรับรู้การรณรงค์ห้ามพนัน 42% ระบุชัดไม่ใช่การเสี่ยงดวง นักวิชาการแนะทุกภาคส่วนร่วมมือป้องปราม ตัดช่องพนัน รู้เท่าทันเทคโนโลยี
วันนี้ (14 มิ.ย.) เวลา 10.00 น. ที่โรงแรมแมนดาริน สามย่าน ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงผลสำรวจ “พฤติกรรมการรับชมและการเล่นพนันทายผลฟุตบอลยูโร 2016 กลุ่มนักพนันมัธยมปลายและอาชีวศึกษา รอบที่ 1”
นายธน หาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) กล่าวว่า จากผลสำรวจระหว่างวันที่ 24 พ.ค.- 7 มิ.ย. 59 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2016 ในกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาปลาย (ม.4 - ม.6) และอาชีวศึกษา (ปวช.1 - ปวช.3) จำนวน 3,807 ตัวอย่าง ใน 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ เชียงใหม่ พิษณุโลก ชลบุรี ราชบุรี ขอนแก่น อุบลราชธานี สุราษฏร์ธานี และ สงขลา พบว่า 36.9% ตั้งใจจะดูการถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2016 ทีมที่เชียร์มากที่สุดคืออังกฤษ และ เยอรมนี ทั้งนี้ 2 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่าง หรือ 42.7% มีทัศนคติว่า การเล่นพนันบอลไม่ใช่การเสี่ยงดวง เพราะต้องใช้ความสามารถในการวิเคราะห์ และ 45.7% มองว่า การวางเดิมพันข้างทีมที่เชียร์เป็นการแสดงออกถึงการเป็นแฟนบอลของทีมนั้น ที่น่าสนใจเกือบ 60% ไม่เคยได้ยินได้ฟังการรณรงค์ หรือถูกห้ามปรามไม่ให้เล่นพนันบอล เมื่อถามถึงบุคคลที่มีอิทธิพลที่จะห้ามปรามไม่ให้เล่นพนันบอล พบว่า 3 อันดับแรก คือ พ่อแม่ ผู้ปกครอง 30.7% รองลงมาคือ โรงเรียน วิทยาลัย 15.1% และครู อาจารย์ 14.7%
“กลุ่มตัวอย่าง 1 ใน 3 เคยมีประสบการณ์เล่นพนันทายผลกีฬา และการพนันที่นิยมเล่นมากที่สุด คือ พนันฟุตบอล ที่น่าห่วงคือ กลุ่มตัวอย่างที่เล่นพนันฟุตบอล 26% เล่นทุกสัปดาห์ และ 2 ใน 3 ไม่กังวลว่าจะถูกจับหรือถูกลงโทษ ที่สำคัญ การแข่งขันฟุตบอลยูโรรอบนี้มีกลุ่มตัวอย่างตั้งใจจะเล่นพนันถึง 16.5% ด้านวงเงินที่จะใช้ในการเล่นพนันมีหลายระดับ ตั้งแต่ไม่เกิน 500 จนถึงสูงกว่า 5,000 บาท โดยเงินที่จะนำมาเล่นพนัน ส่วนใหญ่มาจากเงินเก็บและเงินที่ได้จากทางบ้าน สำหรับช่องทางที่ใช้รับข้อมูลเล่นพนันบอล อันดับแรกคือ เว็บไซต์ รองลงมา ได้แก่ หนังสือพิมพ์กีฬา อินเทอร์เน็ต และ ทีวี” นายธน กล่าว พร้อมกับให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า การป้องกันเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน พ่อแม่ โรงเรียน สถาบัน ชุมชน ต้องช่วยสอดส่องห้ามปราม ตัดช่องทางการเล่นพนัน รู้เท่าทันเทคโนโลยี รวมถึงให้ความรู้ ทำให้เห็นถึงโทษและผลกระทบจากการเล่นพนัน เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนทัศนคติ ขณะเดียวกัน กฎหมายต้องเข้มงวดจริงจังและมีความต่อเนื่อง ไม่ใช่เฉพาะช่วงเทศกาลฟุตบอลโลก หรือยูโร และขอฝากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทบทวนมาตรการดูแล การนำเสนอข้อมูล ข่าวสารที่เชื่อมโยงกับการเล่นพนันทายผลฟุตบอล เช่น ข้อมูลอัตราต่อรอง เนื่องจากเป็นอีกปัจจัยที่มีส่วนเสริมการเล่นพนันทายผลฟุตบอล โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน
รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เทศกาลฟุตบอลยูโรผ่านมาได้เพียง 3 วัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติสามารถจับกุมผู้ลักลอบเล่นพนันทายผลฟุตบอลยูโรกว่า 1,028 คดี เงินสด 1,157,200 บาท เงินในโพย 10,050,280 บาท สมุดบัญชี 22 เล่ม แม้ว่าตัวเลขการจับกุมยังน้อยกว่าที่มีการคาดการณ์มาก แต่ก็สะท้อนว่าภาครัฐเอาจริงเอาจัง เข้มงวดในการจับกุมดำเนินคดี การเข้มงวดกวดขันของตำรวจมีนัยสำคัญต่อร้านรับพนันทายผลฟุตบอลเป็นอย่างมาก แต่ช่องทางการเข้าถึงของนักพนันก็ยังทำได้ง่าย เพียงแค่มีโทรศัพท์หรืออินเตอร์เน็ต อีกทั้งสื่อต่าง ๆ ยังมีอิทธิพลให้นักพนันใช้ประกอบการเล่น ขณะที่สภาพแวดล้อมยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเล่นพนันบอล ดังนั้น สิ่งที่จะช่วยลดนักเล่นที่ยังเป็นเยาวชนได้ดีคือ การห้ามปรามของคนรอบข้าง พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือคนรู้จักในชุมชนที่พักอาศัย และครูอาจารย์ในโรงเรียน
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่