วธ. จัดพิมพ์หนังสือเฉลิมพระเกียรติ “ในหลวง” ฉลองครองราชย์ 70 ปี พร้อมอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ 5 ยุคสมัย ให้ประชาชนกราบสักการะ
วันนี้ (7 มิ.ย.) ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม แถลงข่าวเปิดตัวหนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี ว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)โดยกรมศิลปากร ได้จัดพิมพ์หนังสือจำนวน 8 เล่ม ประกอบด้วย 1. หนังสือเรื่องอัครศิลปิน 2. อัคราภิรักษ์ศิลปิน 3. นพรัชบรมราชจักรวงศ์ 4. พระบรมสารีริกธาตุ 5. หนังสือ 70 สัมพัจฉร์ฉลองรัชธรรมราชา 6. ทีฆาราชย์แห่งสยาม 7. หนังสือ 27 ราชอารยรัฐ 8. เทิด 9 ปกเกศ พระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งการแต่งหนังสือนี้ถือเป็นธรรมเนียมนิยมของไทย ที่ยึดถือปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยโบราณ ส่วนใหญ่มีเนื้อหาเป็นวรรณคดีเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ และสิ่งสำคัญ ของบ้านเมือง สรรเสริญพระเกียรติพระมหากษัตริย์ เดิมนิยมแต่งด้วยบทร้อยกรอง
นายวีระ กล่าวต่อว่า วธ. จัดกิจกรรม “กราบบูชาพระบรมสารีริกธาตุ เถลิงราชย์ นวธรรมราชา” นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ที่เก็บไว้ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 5 แห่ง ใน 5 ยุคสมัย ได้แก่ ทวารวดี ล้านนา สุโขทัย อยุธยา และ รัตนโกสินทร์ จำนวน 18 รายการ มาจัดแสดงนิทรรศการประวัติพระบรมสารีริกธาตุ ระหว่างวันที่ 10 มิถุนายน - 31 ตุลาคม 2559 พร้อมกันนี้ ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนได้สักการะถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ประกอบด้วย 1. ตลับทองคำภายในบรรจุพระธาตุ ผอบพร้อมฝา และฝาผอบขุดค้นที่เมืองโบราณคูบัว จ.ราชบุรี เป็นโบราณวัตถุ สมัยทวารวดีอายุกว่า 1,400 ปี ประดิษฐาน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี 2. เจดีย์จำลองภายในบรรจุพระธาตุ ได้จากวัดดอกตำบลฮอด จ.เชียงใหม่ ตลับดินเผาเคลือบภายในบรรจุพระธาตุ ได้จากเจดีย์ร้าง เวียงกุมกาม อ.สารภี จ.เชียงใหม่ และผอบสำริดบรรจุพระธาตุ ได้จากการขุดแต่งเจดีย์กุด จ.เชียงใหม่ สมัยล้านนา ศิลปะจีนพุทธศตวรรษที่ 21 - 22 จาก พิพิธภัณสถานแห่งชาติเชียงใหม่
3. ผอบพร้อมฝา ลักษณะทรงกลม มีพระธาตุ 2 องค์สีทองและสีน้ำตาล ผอบพร้อมฝาลักษณะทรงกลม ผอบพร้อมฝา ลักษณะทรงกลม ฝาครอบมีจุกด้านบนเป็นรูปกรวย ผอบ พร้อมฝาลักษณะทรงกลม สมัยสุโขทัย ส่วนใหญ่ได้จากการขุดแต่งเนินโบราณ จาก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง 4. ผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมบุษบก พบในกรุพระปรางค์วัดมหาธาตุ เจดีย์ทำคำจำลอง ชิ้นส่วนทองคำ รวมถึงชุดพระธาตุเจดีย์ พร้อมเครื่องสูงได้จากการปฏิสังขรณ์เจดีย์ศรีสุริโยทัย เมื่อปี 2533 สมัยอยุธยา จาก พิพิธภัณสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา และ 5. พระบรมสารีริกธาตุบรรจุในกรัณฑ์ทองคำลงยา อยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์ จาก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
“พระบรมสารีริกธาตุ ถือเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า การที่อัญเชิญมาครั้งนี้ แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยที่มีมายาวนาน ตั้งแต่สมัยทวารวดี ที่สำคัญพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ทรงสืบทอดทำนุบำรุงส่งเสริม พระพุทธศาสนามาอย่างยั่งยืน และทรงเป็นธรรมราชาจวบจนมาถึงปัจจุบัน เห็นได้จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา และถวายสักการะพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดได้จากกรุพระปรางค์วัดมหาธาตุ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งนำมาจัดแสดงและให้ประชาชนกราบสักการะในครั้งนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม ตนกำชับเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์จัดระบบรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดตลอด 24 ชั่วโมง และภายหลังสิ้นสุดการจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครแล้ว จะอัญเชิญไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์หลัก ๆ ของประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้สักการะด้วย” นายวีระ กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่