xs
xsm
sm
md
lg

“ธนะศักดิ์” จวก 10 ปี สางปัญหารุกล้ำมรดกโลกอยุธยาไม่คืบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ธนะศักดิ์” เร่งคลอดแผนแม่บทอยุธยา สางปัญหารุกล้ำมรดกโลก ระบุเปลี่ยนมา 10 รัฐบาล 12 รัฐมนตรี ยังไร้ผล ด้าน “อรนุช” ตอกย้ำ เปลี่ยนผู้ว่าฯ อธิบดี นโยบายก็เปลี่ยน ไม่มีการบังคับใช้จริง

วันนี้ (18 เม.ย.) พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานด้านศาสนาและศิลปวัฒนธรรม จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมี นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม (วธ.) และ นายประยูร รัตนเสนีย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้การต้อนรับ โดย พล.อ.ธนุศักดิ์ ได้พบปะกับประชาชน พร้อมเยี่ยมชมศาสนสถาน 3 ศาสนาทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม ได้แก่ วัดนักบุญยอแซฟ มัสยิดดารุซซุนนะห์ วัดพระเมรุราชิการาม ซึ่ง 3 แห่ง ถือเป็นศูนย์กลางการจัดกิจกรรมของคนในพื้นที่ และเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบของจังหวัดเพื่อผลักดันตามแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติที่ตั้งเป้าให้มีชุมชนคุณธรรมต้นแบบกว่า 7 พันชุมชนทั่วประเทศ ภายในปี 2560

ต่อจากนั้น ได้ลงพื้นที่วิหารพระมงคลบพิตร ภายในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่โบราณสถานของร้านค้าข้างวิหารพระมงคลบพิตร และเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการและควบคุมการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์และพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่และพิจารณาแผนแม่บทการอนุรักษ์พื้นที่อุทยานฯ พบว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับงานด้านมิติวัฒนธรรมที่สามารถสร้างเม็ดเงินและสร้างภาพลักษณ์ให้กับประเทศ จึงต้องการผลักดันให้ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกต้องมาเยือนเช่นเดียวกับเมืองนารา เมืองหลวงประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น

พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าวว่า ถึงแม้ว่าจะมีแผนแม่บทการแก้ปัญหาการพัฒนาเมืองรุกล้ำโบราณสถานแต่หน่วยงานต่าง ๆ ไม่ถือปฏิบัติตาม จึงมีปัญหาติดขัดในการบริหารจัดการเขตพื้นที่โบราณสถานภาพรวม อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้ กรมศิลปากร ได้นำเสนอร่างแผนแม่บทโครงการอนุรักษ์ฯ ฉบับปรับปรุง มีระยะเวลาดำเนินงาน 5 - 10 ปี เสนอให้แผนนี้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งในแผนนี้จะมีแผนการดำเนินงาน 8 เรื่องหลัก เช่น การใช้ที่ดินและกฎหมาย แผนอนุรักษ์โบราณสถาน แผนพัฒนาและปรับปรุงชุมชนที่รุกล้ำพื้นที่อุทยานฯ และเพิ่มมาตรการลดผลกระทบภัยพิบัติ โดยให้แต่และหน่วยงานเสนอแนะความเห็นและสรุปผลเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกด้านวัฒนธรรมภายใน ต.ค. นี้ ต่อจากนั้นจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาตามลำดับ

“แผนพัฒนาอุทยานทำมาเป็น 10 ปีแล้ว ผ่านมา 10 รัฐบาล 12 รัฐมนตรีการแก้ไขปัญหาก็ยังไม่สำเร็จ โดยเฉพาะการจัดระเบียบร้านค้าด้านหลังวิหารพระมงคลบพิตร ปรากฏว่า ยังมีร้านค้าที่ผิดกฎหมายรุกล้ำพื้นที่อุทยานอยู่มาก นอกจากนี้ ยังมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว และศูนย์จำหน่ายสินค้าบึงพระราม ที่สร้างมาแต่ไม่ได้ใช้งานถูกปล่อยร้าง ซึ่งปัญหาต่าง ๆ จะต้องทำให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และให้เทศบาลไปเจรจากับร้านค้าเพื่อหาทางออกร่วมกัน” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

ด้าน นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา รองผู้ว่าราชการ จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า จ.พระนครศรีอยุธยา กำหนดนโยบายเร่งด่วนให้อยุธยาเป็นเมืองน่าอยู่ เชิดชูมรดกโลก โดยยึดถือแผนแม่บทโครงการอนุรักษ์และพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาเป็นหลัก ส่วนการจัดระเบียบและการจัดการท่องเที่ยว ได้มอบหมายให้สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬา จ.พระนครศรีอยุธยา ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาเพื่อสร้างศูนย์กลางการบริการนักท่องเที่ยว หรือ แลนด์มาร์ก พร้อมทั้งสร้างทางเดินเชื่อมพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ให้เดินถึงวัดและแหล่งโบราณสถานต่าง ๆ ได้ครบถ้วน พร้อมกันนี้ เพื่อลดแรงสั่นสะเทือนจากการจราจรที่คับคั่ง ได้มีการจัดระบบจราจร กำหนดจุดจอดรถบัส รถตู้ และจัดรถรางไว้บริการนักท่องเที่ยว และจะให้โยกย้ายร้านค้าที่รุกล้ำเขตโบราณสถานมาจำหน่ายสินค้าบริเวณนี้ด้วย คิดว่า แนวทางนี้น่าจะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

“พื้นที่อุทยานฯ 1,810 ไร่ จะต้องกำหนดโซนนิ่งเขตโบราณสถานให้ชัดเจน ซึ่งการก่อสร้างในพื้นที่นี้ต้องงดโดยสิ้นเชิง และให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่บุกรุกออกให้หมด ซึ่งคาดว่าผลการศึกษาบริษัทที่ปรึกษาจะใช้เวลา 8 เดือน ภายใต้งบประมาณ 1.5 ล้านบาท” นายขจรศักดิ์ กล่าว

ขณะที่ นางอรนุช อิ่มอารมณ์ ผู้แทนสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กล่าวว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีความเป็นห่วงการบังคับใช้แผนพัฒนาฯ เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนผู้ว่าราชการจังหวัด และเปลี่ยนอธิบดี ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปหมดไม่มีการบังคับใช้ได้จริง อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เข้ามาร่วมประชุมก็เพียงทำตามหน้าที่เท่านั้น และหน่วยงานต่างๆ ส่งเพียงผู้แทนเข้ามาไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจ จึงมองว่าไม่อยากให้มีคณะกรรมการมาก อยากให้มีคนทำงานมาช่วยแก้ไขปัญหามากกว่า

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น