xs
xsm
sm
md
lg

พบ 3 จชต. แม่ตายหลังคลอดพุ่ง แนะเพิ่มความรู้ “โต๊ะบีแด” ป้องกันแท้ง คลอดปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แม่ตายหลังคลอดพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้พุ่งสูง วิจัยพบ 3 สาเหตุ คนทำงาน แม่ และเด็กหมุนเวียนบ่อย ความเชื่อด้านศาสนา ขาดความเข้าใจวิถีมุสลิม แนะให้ความรู้การทำคลอดปลอดภัย ประเมินปัจจัยเสี่ยงแท้ง “โต๊ะบีแด” เหตุคนมุสลิมให้ความเชื่อถือ

นางศรีวิภา เลี้ยงพันธุ์สกุล นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ชำนาญการพิเศษ สำนักตรวจและประเมินผล กลุ่มตรวจราชการ เขตสุขภาพที่ 12 นำเสนอผลงานวิจัย “โครงการวิเคราะห์สถานการณ์และปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความสำเร็จในการแก้ไขปัญหางานอนามัยแม่และเด็กใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” สนับสนุนโดยสำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ว่า งานอนามัยแม่และเด็กในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ยังคงมีปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่า อัตราตายของมารดาเกินเกณฑ์ที่กำหนดคือ ร้อยละ 15 ต่อแสนคนในการเกิดมีชีพ โดย จ.ยะลา พบสูงถึงร้อยละ 81.81 ปัตตานี ร้อยละ 67.43 และนราธิวาส ร้อยละ 63.93 นอกจากนี้ มารดายังมีภาวะโลหิตจางในขณะตั้งครรภ์สูงเกินเกณฑ์ที่กำหนดคือ ร้อยละ 10 ด้วย ซึ่งจะทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนด และมีน้ำหนักตัวน้อย โดยปัตตานี พบร้อยละ 18.4 นราธิวาส ร้อยละ 17.2 และยะลา ร้อยละ 16.1 ส่วนทารกแรกคลอดน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ปกติอย่างมาก โดยยะลา พบน้ำหนักเด็กแรกคลอดต่ำกว่า 2,500 กรัม ร้อยละ 9.5 นราธิวาส ร้อยละ 7.4 และปัตตานี ร้อยละ 6.7

นางศรีวิภา กล่าวว่า จากการศึกษาโดยการสัมภาษณ์ และสนทนากลุ่มในกลุ่มที่มีความเกี่ยวข้องต่องานอนามัยแม่และเด็ก พบปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความสำเร็จในงานอนามัยแม่และเด็กมี 3 ประเด็น คือ 1.กำลังคน ผู้ปฏิบัติงานอนามัยแม่และเด็กมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันค่อนข้างบ่อย คือ “คนไม่ทันเก่า ใหม่ก็มา” ทำให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพของงาน เพราะต้องใช้ทักษะ และประสบการณ์ค่อนข้างสูง เพื่อการประเมินและการจัดบริการสุขภาพให้แก่หญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง รวมไปถึงตัวชี้วัดต่างๆ จากส่วนกลางไม่สอดคล้องต่อบริบทพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ภาระงานของผู้ปฏิบัติงานมากเกินความจำเป็น 2.ความเชื่อ ที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิต และการตัดสินใจ เช่น เชื่อว่าหญิงตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทานอาหารมาก และไม่ควรทานยาบำรุง เชื่อและให้คุณค่าต่อการกำเนิดบุตร และเชื่อว่าการตายเป็นเรื่องของธรรมชาติ แม้แต่ในรายหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง ก็ยังต้องการมีลูกเพื่อสืบสกุล

นางศรีวิภา กล่าวว่า และ 3.โต๊ะบีแด เป็นชื่อที่ชาวไทยมุสลิมใช้เรียกผู้ที่เขาศรัทธาในการดูแลเกี่ยวกับมารดา และทารก ถือเป็นจุดแข็งของระบบการทำงานอนามัยแม่และเด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากเป็นผู้อาวุโสที่มีความรู้ความชำนาญด้านการดูแลหญิงตั้งครรภ์ ที่ผสมผสานการดูแลกับหลักศาสนา ทำให้เกิดศรัทธา และความอุ่นใจแก้หญิงตั้งครรภ์ที่มารับบริการ ต่างกับการบริการทางการแพทย์ที่ยังไม่สามารถเข้าใจ และเข้าถึงวิถีมุสลิมได้อย่างแท้จริง สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบาย คือ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์ต้องทำงานร่วมกับโต๊ะบีแด เช่น พัฒนาสมรรถนะให้โต๊ะบีแด ในการประเมินปัจจัยเสี่ยงของหญิงมีครรภ์ การส่งต่อ และทำคลอดฉุกเฉินอย่างปลอดภัย ทบทวนตัวชี้วัดและปรับแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายแม่และเด็กให้มีความยืดหยุ่น เหมาะสม และเป็นไปได้ สอดคล้องตามสภาพปัญหาในพื้นที่ สนับสนุนอัตรากำลังบุคลากรทางการแพทย์ด้านอนามัยแม่และเด็ก เช่น มีโควตาการศึกษาด้านสูตินรีแพทย์เป็นกรณีพิเศษในพื้นที่ เพิ่มมุมมอง และความเข้าใจในวิถีชีวิตและความเชื่อของคนไทยมุสลิมให้บุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ เป็นต้น ซึ่งผู้ตรวจราชการ สธ.เขต 12 ได้ใช้ข้อมูลจากการวิจัยนี้ไปกำหนดกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาแล้ว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น