มธ. ปรับรูปแบบสอบรับตรงใหม่ ใช้คะแนน “TU STAR” เริ่มปี 2560 ใน 14 คณะ 44 หลักสูตร เปิดให้สอบ 8 ครั้ง เพื่อเลือกคะแนนดีที่สุด หวังลดเครียด นักเรียนวิ่งรอกสอบ วัดความรู้ 3 ด้าน วิเคราะห์สถานการณ์โลก วิชาการมัธยม ความถนัดวิชาชีพ เริ่มสอบครั้งแรก 3 ก.ค.นี้
วันนี้ (1 เม.ย.) รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) แถลงข่าวการสอบรับตรงระบบใหม่ “TU-STAR : Gateway to Thammasat” ว่า ในปีการศึกษา 2560 มธ. มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย ด้วยวิธีการรับตรงในระบบใหม่ เรียกว่า “TU STAR (TU Standardized Test of Aptitude Requirement)” ซึ่งการจัดสอบนี้จะช่วยลดความเครียดและการวิ่งรอกสอบของเด็กนักเรียน โดยการสอบจะวัดใน 3 ส่วน คือ 1. ทักษะและความพร้อมสำหรับอุดมศึกษา (Aptitude for Higher Education) เพื่อดูว่ามีความพร้อมในการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแล้วหรือไม่ โดยจะทดสอบในเรื่องความเท่าทันโลกสมัยใหม่ การสื่อสาร การคิดอ่านเขียนอย่างมีวิจารณญาณ โดยจะเป็นข้อสอบแบบปรนัย 2. ความรู้ทางวิชาการระดับมัธยมศึกษา (Academic Performance) เป็นข้อสอบปรนัยประกอบด้วย 7 รายวิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ 1 (สายวิทย์) คณิตศาสตร์ 2 (สายศิลป์) ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา วิทยาศาสตร์ทั่วไป และภาษาฝรั่งเศส ซึ่งเนื้อหาข้อสอบจะไม่เกินหลักสูตรการเรียนของระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และ 3. ความถนัดทางวิชาชีพ (Aptitude for Specific Professions) เพื่อคัดกรองนักเรียนที่มีความสนใจในสาขาวิชานั้น ๆ นำไปสู่การได้ผู้เรียนที่มีคุณภาพและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะมี 2 รายวิชาคือ ความถนัดด้านรัฐศาสตร์ และความถนัดด้านสถาปัตยกรรม
รศ.ดร.พิภพ กล่าวว่า ขณะนี้มี 14 คณะใน มธ. รวม 44 หลักสูตรที่จะรับตรงโดยใช้คะแนนจาก TU STAR ได้แก่ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะรัฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ วิทยาลัยสหวิทยาการ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง คณะแพทยศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร ทั้งนี้ ขอย้ำว่า แม้การสอบ TU STAR จะไม่กำหนดคุณสมบัติของผู้สอบ หมายความว่า ใครก็สามารถเข้ามาสมัครสอบได้ ไม่ว่าจะเรียนอยู่ชั้น ม.4 5 หรือ 6 ก็ตาม หรือแม้แต่จบปริญญาตรีแล้วก็สามารถสมัครสอบได้ แต่การจะยื่นคะแนนเพื่อสมัครเข้าแต่ละคณะนั้น จะต้องมีคุณสมบัติตามที่คณะนั้นกำหนดด้วย สำหรับค่าใช้จ่ายในการสอบจะอยู่ที่ประมาณ 450 บาท
“ที่ต้องมีการสอบทักษะและความพร้อมสำหรับอุดมศึกษา เพราะเราอยากได้นักศึกษาที่คิดวิเคราะห์เป็น มีความพร้อมในการเรียนมหาวิทยาลัย จึงต้องรู้เท่าทันโลกว่าเป็นอย่างไร ต้องเสพข่าวสารและคิดวิเคราะห์เชื่อมโยงเป็น ไม่ใช่ว่าไม่อ่านข่าวสารเลย หรืออ่านแล้วคิดต่อไม่ได้ หรืออ่านแล้วส่งต่อแชร์เพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้น อย่าถามถึงแนวข้อสอบที่จะออก หากพยายามติดตามสถานการณ์และคิดวิเคราะห์อยู่เสมอก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร เพราะนี่เป็นคุณสมบัติที่มหาวิทยาลัยต้องการ” รศ.ดร.พิภพ กล่าว
ด้าน รศ.ดร.สมชาย สุภัทรกุล ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบทักษะด้านการจัดการแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SMARTCenter) กล่าวว่า การสอบ TU STAR นั้น ก่อนอื่นต้องลงทะเบียนที่ www.TUSTAR.tu.ac.th จากนั้นควรดูคุณสมบัติและข้อกำหนดของแต่ละคณะว่าเป็นเช่นไร เพื่อวางแผนในการสอบ ซึ่งการสอบจะมีทั้งหมด 8 ครั้ง สามารถสอบกี่ครั้งก็ได้ เพื่อเลือกผลคะแนนที่ดีที่สุดในการยื่นสมัครรับตรง โดยจะเปิดรับสมัครสอบในวันที่ 6 - 12 มิ.ย. และจัดการสอบครั้งแรกในวันที่ 3 ก.ค. 2559 และจะมีการสอบเดือนละ 1 ครั้ง ไปจนถึงเดือน ก.พ. 2560 รวมทั้งหมด 8 ครั้ง ซึ่งก่อนสอบแต่ละครั้งจะมีการเปิดรับสมัครสอบก่อน 1 เดือน ซึ่งในการสมัครสอบสามารถสมัครผ่านเว็บไซต์ดังกล่าวได้เลย จากนั้นจึงพิมพ์ใบชำระเงินและไปจ่ายได้ที่ธนาคารหรือเคาน์เตอร์เซอร์วิสทุกแห่ง หลังจากนั้น 3 วันให้ตรวจสอบสถานะการชำระเงินว่าเรียบร้อยหรือไม่ภายในเว็บไซต์ จึงมาสอบตามปกติ ซึ่งจะจัดสอบที่ มธ. ศูนย์รังสิต อย่างไรก็ตาม เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนในภูมิภาคไม่ต้องเดินทางมาสอบที่ มธ. รังสิต จะมีการจัดศูนย์สอบเพิ่มในภูมิภาคด้วยจำนวน 3 ครั้ง คือ ก.ย. จัดศูนย์สอบเพิ่มที่ขอนแก่น ต.ค. จัดเพิ่มที่สุราษฎร์ธานี และ พ.ย. จัดเพิ่มที่เชียงใหม่
รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่า สำหรับการสอบจะมีทั้งหมด 8 เมนู ประกอบด้วย STAR01 ทักษะและความพร้อมสำหรับอุดมศึกษาและคณิตศาสตร์ 1 STAR02 ทักษะฯ อุดมศึกษาและคณิตศาสตร์ 2 SATR03 ทักษะฯ อุดมศึกษาเพียงอย่างเดียว STAR04 ทดสอบวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ซึ่งจะมีเมนูย่อย STAR04A สอบเฉพาะวิชาฟิสิกส์เพียงอย่างเดียว STAR05 วิทยาศาสตร์ทั่วไป STAR06 ภาษาฝรั่งเศส STAR 07 ความถนัดวิชาชีพด้านรัฐศาสตร์ และ STAR08 ความถนัดวิชาชีพด้านสถาปัตยกรรม โดยการสอบใน 1 ครั้ง 1 วัน จะแบ่งเป็น ช่วงเช้า สอบ STAR01-03 และช่วงบ่ายสอบ STAR04-08 สำหรับคณะแพทยศาสตร์นั้นการใช้คะแนน TU STAR ในการรับตรงจะรับเฉพาะโครงการผลิตแพทย์เพื่อชนบทเท่านั้น และจะจัดสอบเฉพาะเดือน ต.ค. เพียงอย่างเดียว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ยิ่งเปิดให้มีการสอบหลายรอบ ปัญหาคือเด็กจะสอบทุกครั้ง จะเป็นการลดการวิ่งรอกสอบได้จริงหรือ และปัจจุบันยังคงต้องมีการสอบ O-NET GAT/PAT อีก รศ.ดร.พิภพ กล่าวว่า ตรงนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของตัวนักเรียนเองว่าจะมาสอบกี่ครั้ง แต่มุมมองของ มธ. มองว่า เป็นการทำให้นักเรียนสบายและเครียดน้อยลง เพราะสามารถเลือกสอบเดือนไหนก็ได้ที่คิดว่าตนเองพร้อมที่สุด อย่างไรก็ตาม สำหรับนักเรียนที่ผ่านการสอบสัมภาษณ์และยืนยันสิทธิแล้ว มธ. จะส่งรายชื่อผู้ที่ผ่านการสัมภาษณ์ และยืนยันสิทธิให้กับสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.) เพื่อเข้าสู่ระบบเคลียริงเฮาส์ (Clearing-house) ด้วย
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่