xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนกรณีแม่ประนอมย้อนมองตัว/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ข่าวคราวเรื่องแม่ประนอมออกมาร้องนายกฯ เรื่องภายในครอบครัว กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในวงกว้างด้วยเวลาอันรวดเร็ว
ส่วนหนึ่งก็เพราะชื่อน้ำพริกแม่ประนอมเป็นที่รู้จักของครอบครัวไทย ที่ชอบกินน้ำพริกเผามายาวนาน แล้วจะเห็นรูปแม่ประนอมติดอยู่ข้างขวด และจากนั้นก็ขยายไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกมากมาย
อีกประเด็นหนึ่ง ก็คือ เรื่องที่แม่ลูกมีปัญหากัน จนกระทั่งฝ่ายหนึ่งต้องแยกออกไปอยู่ที่อื่น
ถ้ามองว่าเป็นปัญหาครอบครัวก็ใช่ !
แต่ที่มันบานปลายก็เพราะกรณีที่แม่ประนอมออกมาร้องนายกฯ จนกลายเป็นข่าวฉาวขึ้นมา และโลกสื่อออนไลน์ก็แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว
ในฐานะที่ตัวเองเป็นทั้งลูกของแม่ และแม่ของลูก ก็เลยรู้สึกสะเทือนใจกับข่าวนี้ยิ่งนัก และเกิดคำถามว่า อะไรทำให้คนเราเดินมาถึงจุดที่แม่ลูกมีปัญหากัน จนถึงขึ้นโรงขึ้นศาลได้
ดิฉันจำบรรยากาศวันที่ลูกชายคนโตเคยเข้าโรงพยาบาล 2 ครั้งได้เป็นอย่างดี
ครั้งแรกเมื่อตอนเขาอายุ 8 เดือน มีอาการสำไส้กลืนกัน ต้องเข้าโรงพยาบาล คุณหมอเตรียมผ่าตัด แต่ทว่าโชคดีที่อาการเขาดีขึ้นเองจนไม่ต้องผ่าตัด แต่ยังจำอารมณ์ความรู้สึกครั้งนั้นได้เป็นอย่างดีว่า แทบขาดใจ เพราะด้วยความที่เขาอายุเพียง 8 เดือน แต่ต้องเตรียมเข้ารับการผ่าตัด
ครั้งที่สองเมื่อเขาอยู่ประถม 4 เกิดต้องผ่าตัดไส้ติ่ง เวลานั้นจำได้ว่าอยู่กับเขาและนั่งเฝ้าที่โรงพยาบาล ไม่เป็นอันทำอะไร จนกระทั่งคุณหมอผ่าตัดเสร็จ เห็นสภาพความเจ็บปวดของเขาที่ร้องโอดโอยขณะนั้น อดน้ำตาไหลไม่ได้ และเข้าใจอย่างลึกซึ้งกับประโยคที่ว่า ถ้าแม่เจ็บแทนได้แม่ก็ยอม หรือกระทั่งประโยคที่ว่าแม่ยอมตายแทนลูกได้ ก็ไม่ใช่เรื่องเกินจริงเลย
ทั้งที่จะว่าไปแล้ว ทั้ง 2 ครั้งก็เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยของชีวิต เพราะเมื่อคนเรายิ่งเติบโต อุปสรรคและเรื่องราวในชีวิตก็มีเข้ามาตลอด และหลายครั้งก็มาพร้อมด้วยความเจ็บปวดมากมาย
แต่กว่าที่ลูกตัวเล็ก ๆ จะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ตัวโต มันมีเรื่องราวในความทรงจำมากมายเหลือเกินระหว่างความสัมพันธ์ของแม่ลูก
ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าอะไรทำให้คนเราเดินมาถึงจุดที่แม่ลูกต้องมีปัญหากัน จนถึงต้องขึ้นโรงขึ้นศาลกัน
กรณีของครอบครัวแม่ประนอม ไม่มีใครรู้ดีเท่าคนในครอบครัว และเราก็ไม่ควรไปวิพากษ์วิจารณ์ในสิ่งที่เราไม่รู้ เพียงแต่ถ้าจะให้ดี เรื่องนี้ควรทำให้เราต้องหันกลับมามองครอบครัวของตัวเราด้วยว่าเป็นอย่างไร?
แล้วมีสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้พ่อแม่ลูกมีโอกาสมาถึงจุดนี้ได้
หนึ่ง - พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยเงิน
คุณเป็นพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยเงินหรือเปล่า ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ค่ะว่าด้วยสังคมที่ทุนเป็นใหญ่ และผู้คนหลงใหลอยู่ในโลกวัตถุนิยม พ่อแม่มักตอบสนองความต้องการของลูกด้วยวัตถุสิ่งของ ลูกอยากได้อะไรก็จัดสรรให้ไม่ได้ขาด มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ยิ่งถ้าเป็นพ่อแม่ที่เคยลำบากมาก่อน มักจะมีวิธีคิดว่าไม่อยากให้ลูกลำบากเหมือนตน พยายามชดเชยในสิ่งที่ตนไม่มี โดยหารู้ไม่ว่ากำลังบ่มเพาะนิสัยของการเห็นเงินสำคัญกว่าทุกสิ่ง
สอง - พ่อแม่ที่ไม่มีเวลาให้ลูก
ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจและสภาพครอบครัวไทยในปัจจุบันทำให้พ่อแม่มักทำงานนอกบ้าน ไม่ค่อยมีเวลาให้ลูก ทำให้สัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่ลูกมีช่องว่างหรือเส้นบาง ๆ ที่มีโอกาสทำให้ไม่เข้าใจกัน ถึงแม้อยู่บ้านเดียวกัน แต่ก็ไม่สามารถพูดคุยกันได้ทุกเรื่อง หรือไม่ใส่ใจกัน ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างมีโลกส่วนตัวของตน หรือถ้ายิ่งแล้วใหญ่ พ่อแม่บางคนไม่มีเวลาให้ลูก ก็เลยชดเชยลูกด้วยเงิน ยิ่งทำให้สถานการณ์ไปกันใหญ่
สาม - พ่อแม่ที่ใช้เงินแก้ปัญหาทุกเรื่อง
ถ้าลูกต้องเติบโตขึ้นมาด้วยการพบเห็นว่าพ่อแม่มักจะใช้เงินในการจัดการปัญหาในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่ หรือแม้แต่เรื่องเข้าเรียนก็ต้องใช้เงิน หรือเรื่องผิดของลูกก็ใช้เงินเพื่อเปลี่ยนเป็นถูก ฯลฯ ก็มีโอกาสมากที่ลูกจะใช้เงินในการแก้ปัญหาเช่นกัน
สี่ - พ่อแม่ที่รักลูกไม่เท่ากัน
เรื่องนี้อาจดูเหมือนไม่มีอะไร แต่ที่จริงเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวและเปราะบาง เป็นเรื่องของความรู้สึก ที่ถ้าพ่อแม่ไม่สามารถจัดการให้เกิดความสมดุลในครอบครัว ระหว่างพี่น้อง ก็อาจทำให้พี่น้องทะเลาะกัน หรือกินแหนงแคลงใจกัน และคิดว่าพ่อแม่รักลูกลำเอียง รักลูกไม่เท่ากัน และจะอยู่กับความฝังใจเช่นนั้นจนโตเป็นผู้ใหญ่ จากเรื่องเล็ก ๆ ก็อาจกลายเป็นเรื่องบานปลาย หรือกลายเป็นศึกสายเลือดต่อไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ห้า - พ่อแม่ที่ไม่จัดการปัญหา
การจัดการเป็นศิลปะการครองเรือน และการอยู่ร่วมกันในครอบครัว คนเป็นพ่อแม่ต้องเรียนรู้จักลูกให้ได้ เรียนรู้ว่าลูกมีศักยภาพทางด้านไหน ใครมีนิสัยใจคอแบบไหน และถนัดทางด้านใด และพ่อแม่ก็ควรจะมีเทคนิคในการจัดการปัญหาตั้งแต่ลูกยังเล็ก เช่น ลูกคนโตถนัดเรื่องค้าขาย ในขณะที่ลูกคนอื่น ๆ ไม่ชอบค้าขาย แล้วถ้าพ่อแม่มีกิจการ ก็ต้องวางแผนในกิจการของตนเองว่าจะทำอย่างไรกับลูกๆ ทุกคน เปิดอกพูดคุยถึงข้อจำกัด จุดอ่อนจุดแข็ง และให้ลูก ๆ มีส่วนต่อการจัดการปัญหาด้วย ก็จะป้องกันปัญหาไปได้ระดับหนึ่ง
ประเด็นเหล่านี้ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่ที่จริงไม่เล็กหรอกค่ะ เราจะพบเห็นข่าวคราวในท่วงทำนองนี้บ่อยครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับครอบครัวที่เป็นเศรษฐีซะเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็น่าเสียดาย เพราะแทนที่จะช่วยกันสร้างธุรกิจครอบครัวให้เติบโตแบบยั่งยืน กลับกลายเป็นว่าต้องมามีปัญหากันเพราะธุรกิจ
บางทีเราต้องลองถอดหัวโขนอะไรบางอย่างทิ้ง แล้วนึกถึงความรักระหว่างแม่ลูกล้วนๆ แล้วถามตัวเองว่าเมื่อทะเลาะกันแล้วเรื่องขึ้นสู่ศาล ไม่ว่าผลจะลงเอยอย่างไร ลูกชนะคดีแม่ หรือแม่ชนะคดีลูก
แล้วเราจะรับกับผลที่ตามมาของมันได้ไหม และอย่างไร !
เรื่องบางเรื่องระหว่างแม่ลูกต้องเคลียร์กันด้วยหัวใจ ไม่ใช่เคลียร์ว่าใครถูกผิด !

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น