พยากรณ์โรคปี 59 เฝ้าระวัง 5 โรค คาด "ไข้เลือดออก" ป่วยถึง 1.6 แสนราย มากกว่าระบาดใหญ่ปี 56 อหิวาตกโรค ไข้กาฬหลังแอ่น ไข้หวัดใหญ่ และมือเท้าปาก โรคไม่ติดต่อต้องเข้มเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส เด็กจมน้ำ หมอกควัน อุบัติเหตุ
วันนี้ (28 ธ.ค.) นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวสรุปสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพที่สำคัญปี 2558 และพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพที่สำคัญ ปี 2559 ว่า ในปี 2558 มีเหตุการณ์สำคัญหลายเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนไทย คือ 1.โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางหรือโรคเมอร์ส โดยประเทศไทยพบผู้ป่วย 1 ราย 2.ปัญหาหมอกควันจากไฟป่าในอินโดนีเซีย 3.โรคไข้เลือดออก ซึ่งพบผู้ป่วยสูงถึง 129,000 ราย 4.การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในช่วงต้นปี ทำให้เกิดการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5.ปัญหาการบาดเจ็บจากการจราจร มีผู้เสียชีวิต 341 รายในช่วงเทศกาลปีใหม่ และ 364 รายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และ 6.เหตุการณ์ในต่างประเทศ ได้แก่ โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาทวีปแอฟริกา ไข้หวัดนกในประเทศเพื่อนบ้าน และการเกิดแผ่นดินไหวที่เนปาล
นพ.อำนวย กล่าวว่า สำหรับภัยสุขภาพปี 2559 กรมฯ ได้แบ่งโรคที่ต้องมีการเฝ้าระวังออกเป็น 2 กลุ่ม คือ โรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อ โดยโรคติดต่อสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังมี 5 โรคคือ 1.โรคไข้เลือดออก คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 160,000 คน มากกว่าการระบาดใหญ่ปี 2556 ที่มีผู้ป่วย 140,000 คน โดยอาจจะมีผู้ป่วยสูงเดือนละประมาณ 5,000-7,000 คน และช่วง มิ.ย.-ส.ค.อาจจะมีผู้ป่วยมากถึง 25,000 คน และเสี่ยงมากใน 266 อำเภอ ใน 56 จังหวัด อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับมาตรการป้องกันด้วย 2. อหิวาตกโรค ส่วนใหญ่พบผู้ป่วยพื้นที่แถบชายฝั่งทะเลและชายแดน จึงต้องเน้นเฝ้าระวังต่อเนื่องทั้งจังหวัดเสี่ยงคือ ระยอง สงขลา และตาก กลุ่มจังหวัดชายแดนตอนกลาง ตอนล่าง และมีชายแดนเป็นทะเล จังหวัดใหญ่ที่เป็นจุดกระจายอาหารทะเล และจังหวัดที่มีพฤติกรรมชอบรับประทานอาหารไม่ปรุงสุก
3.ไข้กาฬหลังแอ่น มีการประเมินพบความเสี่ยงของการเกิดโรคใน 15 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ตาก กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สระแก้ว ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สตูล สงขลา กระบี่ ปัตตานี และยะลา 4.ไข้หวัดใหญ่ คาดว่าจะมีผู้ป่วย 72,000 คน ในช่วงฤดูหนาวม.ค.-มี.ค.และช่วงปลายฝนต้นหนาวเดือน ส.ค.-พ.ย. อาจจะมีผู้ป่ยเดือนนละ 5,000 - 8,000 คน และ 5.โรคมือ เท้า ปาก คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 70,000 คน โดยเฉพาะฤดูฝน มิ.ย.-ก.ค. อาจมีผู้ป่วยสูงเดือนละ 10,000 ราย ส่วนโรคไม่ติดต่อต้องเฝ้าระวังภัยจากการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส ป้องกันเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำ การเสียชีวิตด้วยโรคระบบทางเดินหายใจในช่วงมีปัญหาหมอกควัน และการบาดเจ็บ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่