ไม่ใช่เรื่องน่าดีใจ ประเทศไทยติดอันดับ 2 ประเทศที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุดในโลก รองจากประเทศลิเบีย
สถิตินี้องค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นผู้รายงานล่าสุดในปี 2015 นี้เอง โดยข้อมูลย้อนหลังไปเมื่อปี 2012 พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนนกว่า 14,059 ราย คิดเป็นอัตราผู้เสียชีวิต 36.2 คน ต่อประชากร 100,000 คน หรือเฉลี่ยมีผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ 39 คนต่อวัน โดยเป็นเพียงตัวเลขผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุเท่านั้น ยังไม่ได้นับรวมผู้เสียชีวิตหลังส่งโรงพยาบาล
ทั้งนี้ ยานพาหนะทั่วประเทศที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมาย มีจำนวน 32,476,977 คัน กลุ่มผู้ขับขี่จักรยานยนต์ และรถสามล้อ คือ กลุ่มผู้ประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนกลุ่มใหญ่ที่สุด คิดเป็น 73% ตามด้วยผู้โดยสารรถยนต์ 4 ล้อ คิดเป็น 7% ส่วนคนขับรถยนต์คิดเป็น 6%
ภายในงาน “Trauma Day : Be Aware of Road Traffic Accident” จัดโดย รพ.กรุงเทพ เพื่อร่วมรณรงค์ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ใกล้จะถึงนี้ พร้อมแนะวิธีการช่วยเหลือปฐมพยาบาลและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างถูกวิธี ช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตและลดความสูญเสียได้
พญ.สมจินตนา เอี่ยมสรรพางค์ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพ รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนนเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการขาดความระมัดระวัง เช่น กฎหมายเรื่องการคาดเข็มขัดนิรภัยที่จะใช้กับคนขับและผู้โดยสารข้างคนขับเท่านั้น ไม่ได้รวมไปถึงผู้โดยสารคนอื่นๆ โดยจากการศึกษายังพบว่า มีเพียง 58% ของผู้ขับขี่ และ 54% ของผู้โดยสารข้างคนขับที่ใช้เข็มขัดนิรภัย และอีกส่วนหนึ่งคือผู้โดยสารจักรยานยนตร์รับจ้างก็มักไม่สวมหมวกกันน็อก นอกจากนั้น อีก 26% คือผู้เสียชีวิตจากการเมาแล้วขับ
“ที่ผ่านมามักพบกรณีผู้โดยสารที่นั่งเบาะหลังไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ส่งผลให้เสียชีวิตมากกว่าคนขับและผู้ที่นั่งข้างคนขับด้านหน้าที่คาดเข็มขัดนิรภัย ช่วงปีใหม่นี้ที่จะมีการเดินทางเป็นจำนวนมาก อุบัติเหตุอาจเกิดขึ้นได้เสมอ จึงขอให้มีการเตรียมความพร้อมป้องกันตัวเองอย่างเต็มที่ ทุกคนควรคาดเข็มขัดนิรภัยทั้งหมดเพื่อความปลอดภัย ไม่ใช่เฉพาะผู้ที่นั่งเบาะหน้าเท่านั้น”
พญ.สมจินตนากล่าวว่า หากพบเห็นอุบัติเหตุเกิดขึ้นจะต้องทำอย่างไร ลำดับแรก คือ ตั้งสติ พร้อมโทรศัพท์แจ้ง 1669 ที่สำคัญคือพยายามบอกรายละเอียดที่จำเป็นมากที่สุด เช่น พิกัดที่เกิดเหตุ อาการของผู้บาดเจ็บแต่ละรายเป็นอย่างไรบ้าง มีจำนวนกี่คน เพื่อที่ทีมกู้ชีพจะได้จัดเตรียมบุคลากรมาช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสม ที่สำคัญคือควรให้เบอร์โทรศัพท์ติดต่อกลับด้วย เพราะบ่อยครั้งที่เมื่อสายหลุดไปก็ไม่สามารถติดตามได้
“ก่อนจะลงไปช่วยเหลือต้องประเมินก่อนว่า เมื่อลงไปช่วยแล้วตัวเองมีความปลอดภัยด้วยหรือไม่ เพราะหลายรายที่เมื่อลงไปช่วยแล้วตนเองเกิดอุบัติเหตุซ้ำ และเมื่อลงไปช่วยเหลือแล้วแนะนำว่าอย่าพายามเคลื่อนย้ายผู้ป่วยมาก เพราะอาจจะเกิดการบาดเจ็บเพิ่มขึ้นได้ แต่ในกรณีที่ในที่เกิดเหตุไม่ปลอดภัย เช่น มีน้ำมันเชื้อเพลิงรั่วไหล มีประกายไฟ ซึ่งอาจจะเกิดการระเบิดหรือเพลิงไหม้ในรถได้ ถ้าดูแล้วตอนนั้นยังสามารถเข้าไปให้การช่วยเหลือได้ให้รีบเข้าไปนำคนเจ็บออกมายังที่ปลอดภัย แต่ถ้ามีความเสี่ยงให้รอทีมฉุกเฉินมาช่วย โทรฯ เข้าสายด่วน ไม่ว่าจะเป็นของ ภาครัฐที่เบอร์ 1669 หรือศูนย์อุบัติเหตุฉุกเฉินกรุงเทพ 1724 จะได้รับคำแนะนำว่า ในการช่วยเหลือกู้ชีวิตเบื้องต้นต้องทำอย่างไร” พญ.สมจินตนากล่าว
พญ.สมจินตนากล่าวว่า การช่วยเหลือที่ถูกต้องคือพยายามอย่าเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยบาดเจ็บเพิ่มขึ้น และเสียชีวิตได้ ซึ่งปัจจุบันพบการช่วยเหลือผิดวิธีเช่นนี้น้อยลง ผู้ที่จะช่วยเหลือขอให้ประเมินอาการของผู้บาดเจ็บก่อนว่ายังมีสติดีอยู่หรือไม่ บาดเจ็บตรงไหน หากกระดูกหัก ผิดรูปไม่มากก็อาจช่วยเหลือด้วยการดามกระดูก โดยดามเข้ากับส่วนที่แข็งแรงมั่นคง ช่น ผูกแขนที่หักไว้กับร่างกายผู้บาดเจ็บเอง หรือดาวขาที่หักไว้กับขาที่ไม่หัก เป็นต้น แต่หากกระดูกผิดรูปมากเกินไป หรือกระดูกยื่นโผล่ออกมาก็อย่าไปทำอะไร รอทีมช่วยเหลือจะดีกว่า
การช่วยเหลือเบื้องต้นที่ถูกต้องสามารถช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตได้ แต่หากช่วยหลือผิดวิธีก็อาจทำให้อีกชีวิตหนึ่งหมดสิ้นลมหายใจปได้เช่นกัน การเรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นต่างๆ จึงเป้นสิ่งสำคัญ ซึ่ง พญ.สมจินตนากล่าวว่า หลักสูตรการเรียนการสอนของไทยนั้นมี เช่น วิชาลูกเสือ แต่วิชาเหล่านี้ต้องรียนอย่างต่อเนื่อง มิเช่นนั้นจะลืม และต้องมีการอัปเดตความรู้ในการเรียนการสอนอยู่เสมอ เพราะความรู้มีการพัฒนาไปมากต้องตามให้ทัน
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่