จัดทีมแพทย์สะพายเครื่องเออีดี ช่วยชีวิตผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น ดูแลผู้ร่วมกิจกรรม "ปั่นเพื่อพ่อ" พร้อมจักรยานยนต์กู้ชีพ ห่วงผู้ป่วยโรคหัวใจ-อุบัติเหตุ-กระดูกหัก แนะตรวจสภาพร่างกายให้พร้อม พักผ่อนให้เพียงพอ เว้นระยะห่างการปั่น และไม่ปั่นเร็วจนเกินไป
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในกิจกรรมปั่นเพื่อพ่อ หรือ Bike For Dad ในวันที่ 11 ธันวาคม ว่า สพฉ. ได้จัดศูนย์ประสานงานติดตามการบริหารจัดการ เฝ้าระวัง รวบรวมเหตุการณ์ ทั้งอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่เกิดขึ้น พร้อมกันนี้ได้เตรียมสนับสนุนการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยยานพาหนะพิเศษ สำหรับพื้นที่จำเป็น หรือสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ที่การช่วยเหลือโดยรถพยาบาลตามปกติทำได้ลำบาก โดยในกิจกรรมครั้งที่ผ่านมา มีผู้ป่วยฉุกเฉินที่ประสบอุบัติเหตุทั้งสิ้น 93 คน แบ่งเป็นจักรยานล้ม เหนื่อยหอบ ชักเกร็ง โรคหัวใจ และถลอก เป็นต้น
"ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นห่วงที่สุดคือ ผู้ป่วยโรคหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ดังนั้น จึงได้รณรงค์ให้ทีมผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินในทุกจังหวัด นำเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (เออีดี) แบบสะพายหลัง ติดไปกับจักรยานและปั่นตามขบวนไปด้วย จะได้ช่วยเหลือเพื่อผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที เพราะสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจทุกวินาทีมีค่ามาก และหมายถึงชีวิตว่าจะรอดหรือไม่ ซึ่งหากพบเห็นผู้ป่วยฉุกเฉินสิ่งแรกที่ต้องทำคือ ตั้งสติและโทรแจ้งสายด่วน 1669 ทันที" นพ.อนุชา กล่าวและว่า เบื้องต้นมีจังหวัดที่จะมีขบวนกู้ชีพและเครื่องเออีดีตามไปด้วย อาทิ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดสงขลา กรุงเทพมหานคร ฯลฯ ส่วนจังหวัดนนทบุรี สพฉ. ได้ร่วมมือกับจังหวัด จัดทีมปั่นจักรยานกู้ชีพตามขบวนด้วย 5 คัน และมีรถจักรยานยนต์กู้ชีพอีกประมาณ 10 คันและเตรียมพร้อมอาสาสมัครประจำตามจุดต่างๆ แล้ว
นพ.อนุชา กล่าวว่า ส่วนกรณีเกิดอุบัติเหตุรถจักรยานล้ม ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้รับบาดเจ็บกระดูกหัก โดยเฉพาะมือ เพราะตามปกติหากล้มแล้วจะเอามือไปค้ำ หรือหากล้มทั้งตัว อาจทำให้กระดูกไหปลาร้าหรือกระดูกเชิงกรานหัก ซึ่งผู้ที่พบเห็นหากไม่มีความรู้เรื่องการปฐมพยาบาล ไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้บาดเจ็บรุนแรงขึ้น แต่ทั้งนี้หากล้มจนหมดสติควรรีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ สิ่งสำคัญอันดับแรกคือ ผู้ที่จะปั่นจักรยานจะต้องมีสติ มีสมาธิ ควรปั่นโดยเว้นระยะห่างจากคันอื่น ไม่ปั่นชิดเกินไป เพราะอาจไปเกาะเกี่ยวกันจนล้มได้ และไม่ควรปั่นด้วยความเร็วเกินไป นอกจากนี้ผู้ที่จะไปปั่นจักรยานจะต้องเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อม พักผ่อนให้เพียงพอ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคหัวใจจะต้องยิ่งระมัดระวังเป็นพิเศษ ทั้ง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือเคยมีสภาวะเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่พอ ซึ่งหากจะเข้าร่วมปั่นจักรยานควรไปตรวจเช็คร่างกายอย่างละเอียดที่โรงพยาบาล นอกจากนี้หากก่อนปั่น รู้สึกว่าไม่สบายควรงดทำกิจกรรม หรือหากขณะปั่นพบความผิดปกติ ก็ควรหยุดพักทันที
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่